“เราจะไม่ยืนนิ่งเฉยเมื่อน้ำขึ้นรอบ ๆ ตัวเรา ที่ตูวาลูเราไม่ได้แค่พูดกัน เรากำลังระดมการดำเนินการร่วมกันที่บ้าน ในภูมิภาคของเรา และบนเวทีระหว่างประเทศเพื่อรักษาอนาคตของเราเอาไว้”
นี่คือส่วนหนึ่งในคำปราศรัยของไซมอน โคเฟ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม การสื่อสาร และการต่างประเทศของตูวาลู ประเทศหมู่เกาะเล็ก ๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ผู้คนทั่วโลกแทบไม่ค่อยรู้จัก
วีดีโอบันทึกภาพการกล่าวคำปราศัยของเขา ถูกจัดทำขึ้นเพื่อนำไปเปิดในงานการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ สหราชอาณาจักรเมื่อวันอังคาร ( 9 พฤศจิกายน )
ในการแถลงที่หวังผลอย่างยิ่งในอันที่จะสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รัฐมนตรีได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน นั่นก็คือการยืนพูดอยู่หลังโพเดียม ที่ตั้งในทะเล ในจุดที่มีน้ำลึกถึงระดับหัวเข่า
การบันทึกคำปราศัยครั้งนี้ กระทำกันที่ปลายเกาะฟอนกาฟาเล ซึ่งเป็นเกาะเล็ก ๆ อยู่ในเขตการบริหารของเมืองหลวง ฟูนาฟูติ เพื่อหวังให้ชาวโลกได้เข้าใจถึงอันตรายจากปัญหาโลกร้อนที่ชาวตูวาลูอาจจะมีส่วนร่วมในการสร้างมันขึ้นมาเพียงน้อยนิด แต่ผลที่ได้รับ อาจจะหมายถึงการสิ้นแผ่นดิน หากว่าระดับน้ำทะเลเข้าท่วมประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ และประเทศหมู่เกาะอื่น ๆ ในภูมิภาคแถบนี้ จนไม่มีอะไรเหลือ
จุดที่รัฐมนตรียืน ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ มันคือส่วนหนึ่งของผืนแผ่นดินอันน้อยนิดของตูวาลู แต่ปัจจุบัน มันถูกน้ำทะเลเข้าครอบครองไปเรียบร้อยแล้ว และมันก็คงไม่หยุดแค่นั้น
ชาวเกาะในแปซิฟิกที่ตกอยู่ความเสี่ยงอย่างมาก จากการที่ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น กำลังพยายามดิ้นรนเพื่อให้ปัญหาของพวกเขาได้ยินในการประชุมสุดยอดที่กลาสโกว์ และเพื่อเรียกร้องให้โลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นำโดยผู้ปล่อยก๊าซรายใหญ่อย่างจีนและสหรัฐอเมริกา
หลังภาพการกล่าวปราศรัยกลางน้ำทะเลของรัฐมนตรีในชุดสูทและเนคไท แพร่ออกไป มันได้รับการแชร์อย่างกว้างขวางบนโซเชียลมีเดีย และสามารถดึงความสนใจมายังการต่อสู้ของประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ กับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น
รัฐมนตรีเล่าถึงแนวความคิดของการวีดีโอการกล่าวคำปราศัยกลางน้ำว่า “ ผมได้รับคำเชิญให้ไปกล่าวเปิดงาน Climate Mobility ซึ่งเป็นงานนอกรอบการประชุม และนายกรัฐมนตรีของเราก็ได้ส่งข้อความที่ทรงพลังมากในการประชุมว่าตูวาลูกำลังจมน้ำ แนวความคิดก็คือการแสดงให้เห็น ความคิดที่จะออกไปในมหาสมุทร แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นพื้นที่ที่เคยเป็นดินแดนมาก่อน ดังนั้น ผมคิดว่ามันคงจะเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะส่งคำปราศรัยออกไปจากสถานที่แบบนั้น"
“เราไม่คิดว่ามันจะแพร่หลายอย่างที่เราได้เห็นในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ดังนั้นเราจึงพอใจกับสิ่งนี้มาก และหวังว่ามันจะสื่อและเน้นย้ำถึงความท้าทายที่เรากำลังเผชิญในตูวาลูในขณะนี้ "
เขาเสริมด้วยว่า " เรากำลังจินตนาการถึงสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่เราถูกบังคับให้ต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน หรือแผ่นดินของเราจมอยู่ใต้น้ำ เรากำลังวางแผนสำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด และกำลังมองหาช่องทางทางกฎหมายที่จะทำให้เราสามารถรักษาความเป็นเจ้าของเขตพื้นที่ทางทะเลของเรา รักษาการยอมรับเราในฐานะรัฐภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ”
ผู้ก่อมลพิษรายใหญ่จำนวนมากได้ให้คำมั่นว่าจะลดปริมาณคาร์บอนลงในช่วงหลายทศวรรษข้างหน้า โดยมีเป้าหมายที่จะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ภายในปี 2050 แต่ผู้นำในเกาะแปซิฟิกเรียกร้องให้มีการดำเนินการทันที โดยชี้ให้เห็นว่าการอยู่รอดของประเทศที่มีพื้นที่ต่ำ กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง
“ผมเข้าใจว่าผู้นำรู้ดีว่าตูวาลูกำลังจมน้ำ แต่การนำสิ่งนั้นไปปฏิบัติ ที่มาพร้อมกับทัศนคติและความคิดแบบนั้นจริง ๆ นั้นมันค่อนข้างจะยาก และผมทราบว่ามีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ผู้นำต้องพิจารณาและนั่นเป็นสาเหตุหลักที่ความท้าทายไปอยู่กับพวกเขา ผมคิดว่ามันเป็นภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่ผู้นำทุกคนกำลังเผชิญอยู่ แต่ข้อความจริง ๆ ก็คือการมองข้ามความต้องการทางเศรษฐกิจเหล่านั้นในทันที และมองดูความเป็นอยู่ที่ดีของโลก และใช่ นั่นคือ ข้อความที่เราต้องการส่งต่อไปยังผู้นำที่ COP26 ในขณะนี้"
“เราเห็นการกัดเซาะอย่างมากในพื้นที่ชายฝั่งทะเลของเรา อันที่จริงวิดีโอที่ผมส่งคำปราศรัยของผมมา อย่างที่ผมบอก ว่าผมยืนอยู่ในพื้นที่ที่เคยเป็นแผ่นดิน ถ้ามองข้างหลังผมจะเป็นคอนกรีต ที่อยู่เบื้องหลังผมในวิดีโอนั่นคือฐานของปืนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ชาวอเมริกันสร้างขึ้นบนบก และในวิดีโอนั้น คุณจะเห็นว่ามันอยู่ห่างจากพื้นดิน 20 - 30 เมตร นั่นแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลในตูวาลู"
ตูวาลู หรือที่แต่เดิมเรียกว่า หมู่เกาะเอลลิส อยู่ในภูมิภาคย่อยที่เรียกว่าโอเชียเนีย โดยตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างฮาวายกับออสเตรเลีย ประเทศประกอบไปด้วยเกาะหินปะการัง 3 เกาะ และอะทอลล์ ซึ่งเป็นเกาะปะการังรูปวงแหวนอีก 6 เกาะ รวมพื้นที่แล้วทั้งประเทศมีอยู่แค่ 26 ตารางกิโลเมตร และประชากรแค่ 11,646 คนจากการประมาณการณ์ในปี 2562 ประเทศได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อเดือนตุลาคม 2521 และตูวาลูเป็นประเทศที่มีจีดีพีเล็กที่สุดในโลก รัฐบาลมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากการออกใบอนุญาตสำหรับการทำประมง ขณะที่การท่องที่ยวที่อาจจะเป็นรายได้สำคัญของประเทศก็ไม่ค่อยมี เนื่องจากความห่างไกลของประเทศ
ตูวาลูเป็นหมู่เกาะที่ต่ำ จึงอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเลและพายุ โดยจุดที่สูงที่สุดของตูวาลู อยู่ห่างจากระดับน้ำทะเลเพียง 4.6 เมตรเท่านั้น
คาดกันว่าระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น 20-40 เซนติเมตร ในอีก 100 ปีข้างหน้าอาจทำให้ตูวาลู ไม่สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้