svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

“อ.วุธ เทพเฟซบุ๊ค” แจงเหตุแฟนเพจมูลี่ทิพย์ คงกระพันแม้โดนคดี

ผู้เชี่ยวชาญการตลาดดิจิทัล ชี้ ธุรกิจบนเฟซบุ๊ค แม้ถูกเอไอ จับตา “โฆษณา” หาประโยชน์ ยังมีช่องโหว่ หลบเลี่ยง ยกเคส "มูลี่ทิพย์" ไม่อยู่ในข่าย การแจ้งเตือนในคอมเม้นท์ไร้ความหมาย แนะ โพสต์ลงเพจตัวเอง ติดแฮชแท็ก เพิ่มการมองเห็น

วันที่ 25 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนอีกจำนวนไม่น้อย ยังคงทยอยเข้าพบพนักงานสอบสวน กองบัญชาการตำรวจสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี(บช.สอท.) เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้ประกอบการร้านค้าออนไลน์ ที่เปิดเฟซบุ๊คในชื่อ “โรงงานผลิตมูลี่ไม้ไผ่เชียงใหม่” หลังตกเป็นเหยื่อนายธนกรวิทย์ ทารส หรือต้น อายุ 30 ปี ชาวเชียงใหม่ ผู้ประกอบการรายนี้ ส่งสินค้าไม่ได้มาตรฐาน หรือมีการแจ้งขอคิดเงินเพิ่ม โดยอ้างจัดส่ง “มูลี่ไม้ไผ่” เกินจำนวนออเดอร์ แต่กลับส่งสินค้าไม่ครบตามจำนวนที่ชำระไว้ เมื่อมีการทวงถามกลับบ่ายเบี่ยง ทั้งใช้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด -19 ในการเลื่อนกระบวนการยุติธรรมไปอย่างไม่มีสิ้นสุด

 

ทั้งนี้ เฟซบุ๊คของโรงงานผลิตมูลี่แห่งนี้ ยังคงมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่เป็นภาพ “มูลี่ไม้ไผ่” บรรจุในห่อพลาสติก หุ้มกระดาษวางเรียงรายที่พื้น พร้อมข้อความสั้นๆ ระบุ “จัดส่งเรียบร้อยแล้ว” อีกส่วนเป็นภาพ “มูลี่ไม้ไผ่” ถูกนำไปติดตั้งที่ตัวอาคาร พร้อมข้อความสั้นๆ ระบุ “รีวิว สวยๆ จากลูกค้า” โพสต์ต่อเนื่องทิ้งระยะตลอดทุกเดือนที่ผ่านมา ล่าสุด คือวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีการโพสต์ข้อความแสดงราคาของสินค้า ที่แตกต่างกันจากขนาดของมูลี่ไม้ไผ่ ซึ่งทุกการโพสต์ไม่มีการแสดงความเห็นใดๆ ในช่อง Comment มีแต่ตัวการ์ตูนแสดงความรู้สึก “กดไลค์” และโกรธ เท่านั้น 

ด้านนายสรกฤช พิชยดนัยกุล (อาจารย์ วุธ)  หรือ “เทพ facebook” กรรมการผู้จัดการบริษัท AOM.365 จำกัด ผู้เชี่ยวชาญที่ให้คำปรึกษาด้านการตลาดดิจิทัล ชี้ ว่า แม้ ผู้บริหารเฟซบุ๊ค มีนโยบายปกป้องแพลทฟอร์มนี้ ไม่ให้ถูกนำไปใช้เผยแพร่ความรุนแรง บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร รวมถึงการดำเนินธุรกิจที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย ทำให้ธุรกิจบางประเภทถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ เช่น เอ็มแอลเอ็ม ที่ใช้การโฆษณา ชวนเชื่อ มักใช้ถ้อยคำการันตี อาทิ การจำหน่ายครีมผิวขาว ซึ่งหลักการประมวลผลเพื่อตรวจจับของเอไอ จะเป็นลักษณะการจับตาไปที่การยิงโฆษณาทั้งภาพและข้อความ

ในความเป็นจริง การใช้ถ้อยคำในโฆษณายังสามารถเขียนหลบเลี่ยงได้ เช่น ทาผิวแล้วเห็นผลภายใน(จะกี่วันก็แล้วแต่) แบบนี้ ไอเอ ของเฟซบุ๊คจับได้แน่ ซึ่งวิธีเลี่ยงอาจเปลี่ยนไปใช้ถ้อยคำอื่น หรือสื่อออกเป็นภาพวาด หรือใช้เป็นตัวอักษรที่มีอักขระผิดเพี้ยนไปจากเดิมจนเอไอตรวจจับไม่ได้เป็นต้น แต่ทั้งหมดนี้ เป็นการจับตาที่ "โฆษณา" เท่านั้น 

 

กรณีเฟซบุ๊ค “โรงงานผลิตมูลี่ไม้ไผ่เชียงใหม่” เป็นธุรกิจรับผลิตสินค้าแล้วส่งจำหน่าย ไม่อยู่ในข่ายที่เฟซบุ๊คจะต้องจับตา หรือ

 

ต่อให้ปรากฎข้อมูลคดีความในช่อง Comment เอไอของเฟซบุ๊คก็อาจไม่สนใจ เพราะการตรวจสอบของเอไอจะเพ่งเล็งไปที่การใช้ถ้อยคำในโฆษณามากกว่า ฉะนั้น หลังแอดมินลบข้อความใน Comment จึงยังสามารถโพสต์ภาพ "มูลี่ไม้ไผ่" พร้อมดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่ไม่มีข้อความโฆษณา ที่เอไอเฟซบุ๊คไม่ต้องการ

อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊ค เปิดช่องทางให้ผู้ใช้รายอื่นๆ สามารถแจ้งให้ทางเฟซบุ๊คได้รับทราบว่า แฟนเพจนี้เป็น “สแปม” ซึ่งต้องมีผู้ใช้จำนวนมากพอสมควร อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 20 ราย หรืออาจชักชวนเหยื่อทุกราย ช่วยกันโพสต์เผยแพร่ปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมติดแฮชแท็ก ลงในเฟจบุ๊คของตัวเอง ซึ่งจะช่วยในแง่การมองเห็นของผู้อื่น เมื่อมีการค้นหาในเซิร์สเอ็นจิ้น เพราะถือเป็นวิธีการป้องกันตัวเองที่ดีและง่ายที่สุด 

“อ.วุธ เทพเฟซบุ๊ค” แจงเหตุแฟนเพจมูลี่ทิพย์ คงกระพันแม้โดนคดี