19 ตุลาคม 2564 น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(กมธ.ดีอีเอส) กล่าวถึงกรณีมีประชาชนหลายรายเจอปัญหาจากแอพฯ ที่มีการผูกกับบัญชีธนาคาร บัตรเครดิตและบัตรเดบิต ที่พบยอดเงินถูกหักโดยไม่ทราบสาเหตุ ว่า ในสัปดาห์นี้ตนจะนำประเด็นดังกล่าวหารือในที่ประชุมกมธ. เพื่อขออนุมัติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สมาคมธนาคารไทย และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงรายละเอียด ในการประชุมครั้งถัดไป เพื่อต้องการมราบว่าตามระเบียบหรือกฎที่เกี่ยวข้องสามารถปกป้องหรืออุดช่องว่างไม่ให้ประชาชนถูกเอาเปรียบหรือถูกหลอกลวงจากกลุ่มมิจฉาชีพได้หรือไม่ และหากมีช่องโหว่จะปรับปรุงกติกาอย่างไรได้บ้างเพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อ และในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ หากประชาชนยังถูกหลอกด้วยเทคโนโลยีอีกเท่ากับถูกซ้ำเติม
“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมาก รวมถึงกระทบกับประชาชนจำนวนมาก และมีผู้ที่ร้องเรียนให้หน่วยงาน และสื่อมวลชนช่วยตรวจสอบ อย่างไรก็ดีกมธ. ไม่ต้องการให้เกิดการหลอกลวงผ่านเทคโนโลยีขยายวงกว้าง ซึ่งการใช้แอพลิเคชั่นที่ผูกกับบัตรเดบิต หรือ บัตรเครดิต ที่แม้จะสามารถหักเงินจากบัญชีเจ้าของได้โดยตรง แต่ควรมีรายละเอียดที่เจ้าของบัตรต้องอนุมัติก่อน ไม่ใช่ถูกหักไปโดยไม่รู้ตัว” น.ส.กัลยา กล่าว
ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(กมธ.ดีอีเอส) กล่าวว่า เรื่องทำนองเคยเกิดขึ้นมาแล้ว แน่นอนว่าเรามีระบบป้องกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าการป้องกันไม่สามารถทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเทคโนโลยีและรูปแบบการโกงจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ซึ่งองค์กรที่ดูแลเงินก็พยายามที่จะพัฒนาระบบป้องกันอยู่ตลอดเช่นกัน แต่เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้นแล้วสิ่งสำคัญคือการคืนเงินให้เร็วที่สุดควรพิจารณาเป็นอันดับแรก ต้องลดทอนความเสียหายของประชาชนให้เร็วที่สุด
รองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวต่อว่า การร้องเรียนของประชาชนจะต้องทำให้จบได้ในจุดเดียว ต้องมีหน่วยงานที่ชัดเจนในการรับเรื่อง ซึ่งจะต้องบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาทำงานร่วมกัน ไม่ต้องให้ประชาชนวิ่งไปแจ้งตำรวจ แล้วต้องไปธนาคารแห่งประเทศไทย แล้วต้องไปธนาคารที่มีบัญชี ที่เป็นอย่างนี้เนื่องจากเรายังไม่มีแผนบริหารจัดการปัญหาที่รวบทุกหน่วยงานเข้าไว้ด้วยกัน สิ่งที่ควารจะเกิดขึ้นคือ เมื่อมีเหตุเกิดขึ้น ประชาชนสามารถขึ้นสถานีตำรวจแจ้งความเพียงครั้งเดียวแล้วกลับบ้าน ที่เหลือจะเป็นการจัดการภายในที่ภาครัฐจะประสานข้อมูลกันเอง เมื่อรับแจ้งความแล้วจะใช้เวลากี่ชั่วโมง กี่วันต้องแจ้งให้ประชาชนทราบแล้วต้องทำให้ได้ตามนั้น
“ปัญหาที่เราแก้ไม่ตกคือ เรามีหน่วยงานเต็มไปหมดที่จะทำเรื่องนี้ แต่ละส่วนทำอย่างละนิดอย่างละหน่อย แต่ปล่อยให้ประชาชนเดินเรื่องเอง มันไม่เวิร์ค เราต้องมีกลไกที่จะทำให้เมื่อประชาชนแจ้งว่าถูกหลอกลวงแล้ว ต้องไปหยุดการเอาเงินออกจากบัญชีให้เร็วที่สุด ภายในไม่กี่ชั่วโมงทำได้หรือไม่ แนวทางนี้เหมือนไม้เสียบลูกชิ้น ที่หน่วยงานต่างๆคือลูกชิ้นที่กระจัดกระจายอยู่ เราต้องเอาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชนมาเสียบอยู่ในไม้เดียวกัน เช่น กสทช. ก.ดีอีเอส สถาบันการเงิน ผู้ให้บริการมือถือ แบงค์ชาติ ตำรวจ ปอท. ฯลฯ แล้วทำงานประสานกันเพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว