"วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา" หรือที่เรียกว่า "วิกฤตการณ์เดือนตุลาคม 2505" เป็นการเผชิญหน้ากันเป็นเวลากว่า 1 เดือน ระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นวิกฤตระดับนานาชาติ มันมีจุดตั้งต้นเมื่อสหรัฐฯ นำขีปนาวุธของตนไปติดตั้งไว้ในอิตาลีและตุรกี ขณะที่ฝ่ายสหภาพโซเวียตก็ตอบโต้โดยการนำขีปนาวุธที่คล้าย ๆ กันของพวกเขามาติดตั้งไว้ในคิวบา แม้จะมีกรอบเวลาอันสั้น แต่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาก็เป็นช่วงเวลาที่สำคัญของการให้คำจำกัดความเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมทางด้านความมั่นคงแห่งชาติและสงครามนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ การเผชิญหน้ากันครั้งนี้ มักถือว่าเป็นช่วงที่ใกล้เคียงที่สุด ที่สงครามเย็นได้ทวีความรุนแรงขึ้นจนใกล้จะกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์อย่างเต็มรูปแบบ
ในการตอบสนองต่อการนำขีปนาวุธนำวิถี "จูปิเตอร์" ของสหรัฐไปติดตั้งไว้ในอิตาลีและตุรกี และ "การบุกอ่าวหมู" ที่ล้มเหลวในปี 2504 ของสหรัฐ นิกิตา ครุชชอฟ เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สหภาพโซเวียต ตกลงตามคำขอของคิวบาที่จะนำขีปนาวุธนิวเคลียร์ไปติดตั้งไว้บนเกาะคิวบา เพื่อยับยั้งการบุกในอนาคต มีการบรรลุข้อตกลงในการประชุมลับระหว่างครุชชอฟและนายกรัฐมนตรีฟิเดล คาสโตรของคิวบาในเดือนกรกฎาคม 2505 ขณะที่การสร้างระบบที่จะรองรับขีปนาวุธได้เริ่มในฤดูร้อนนั้น
ในขณะเดียวกัน การเลือกตั้งในสหรัฐอเมริกาปี 2505 ก็กำลังดำเนินอยู่ และทำเนียบขาวก็ปฏิเสธข้อกล่าวหาเป็นเวลาหลายเดือนว่าเพิกเฉยต่อขีปนาวุธอันตรายของโซเวียตที่ห่างจากจากฟลอริดา 140 กิโลเมตร
วันที่ 14 ตุลาคม 2505 การเตรียมความพร้อมสำหรับขีปนาวุธของสหภาพโซเวียตในคิวบาได้รับการยืนยันเมื่อเครื่องบินสอดแนมแบบ ยู -2 ของกองทัพอากาศสหรัฐได้เก็บหลักฐานเป็นภาพถ่ายที่ชัดเจนของระบบที่จะรองรับขีปนาวุธพิสัยกลาง R-12 และขีปนาวุธพิสัยกลาง R-14
เท่ากับว่า ขีปนาวุธนิวเคลียร์ของข้าศึกได้มาปักอยู่ที่หน้าบ้านของสหรัฐเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในขณะที่สหรัฐนำขีปนาวุธนิวเคลียร์ไปปักที่หน้าบ้านของสหภาพโซเวียตมานานหลายปีแล้ว
เมื่อสิ่งนี้ถูกรายงานต่อประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี เขาเรียกประชุมสมาชิก 9 คนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและที่ปรึกษาสำคัญอีก 5 คน ในระหว่างการประชุม เคนเนดีได้รับคำแนะนำในขั้นต้นให้โจมตีทางอากาศต่อคิวบา แล้วตามด้วยการส่งทหารบุกคิวบา แต่หลังจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้ว เคนเนดีเลือกแนวทางปฏิบัติที่ก้าวร้าวน้อยกว่าเพื่อหลีกเลี่ยงการประกาศสงคราม หลังจากการปรึกษาหารือกันแล้ว เคนเนดีสั่งเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ให้กองทัพเรือป้องกันไม่ให้ขีปนาวุธโซเวียตไปถึงคิวบาอีก โดยใช้คำว่า "กักกัน" แทนที่จะเป็น "การปิดล้อม" ( ซึ่งเป็นการทำสงครามตามคำจำกัดความทางกฎหมาย ) ทำให้สหรัฐอเมริกาสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบของภาวะสงครามได้ สหรัฐฯ ประกาศว่าจะไม่ยอมให้ใครส่งอาวุธโจมตีไปยังคิวบา และเรียกร้องให้มีการรื้อถอนอาวุธที่อยู่ในคิวบาแล้วส่งกลับไปยังสหภาพโซเวียต
หลังจากการเจรจาที่ตึงเครียดหลายวัน เคนเนดีและครุชชอฟก็ได้บรรลุข้อตกลงกัน โดยโซเวียตจะรื้อถอนอาวุธโจมตีในคิวบาและส่งกลับไปยังสหภาพโซเวียต ภายใต้การตรวจสอบขององค์การสหประชาชาติ เพื่อแลกกับการประกาศต่อสาธารณะของสหรัฐฯ และข้อตกลงที่จะไม่รุกรานคิวบาอีก นอกจากนั้น สหรัฐฯ ยังตกลงอย่างลับๆ ว่าจะรื้อถอนขีปนาวุธจูปีเตอร์ทั้งหมด ซึ่งถูกนำไปติดตั้งในตุรกีเพื่อใช้ต่อต้านสหภาพโซเวียต แต่ขณะที่โซเวียตรื้อขีปนาวุธ เครื่องบินทิ้งระเบิดโซเวียตบางลำยังคงอยู่ในคิวบา และสหรัฐฯ ยังคงให้กองทัพเรือดำเนินมาตรการ "กักกัน" จนถึงวันที่ 20 พฤศจิกายนของปีนั้น
เมื่อขีปนาวุธโจมตีทั้งหมดและเครื่องบินทิ้งระเบิดเบา อิล-28 ออกไปจากคิวบา การปิดล้อมก็สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2505 การเจรจาระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็ว ชัดเจน และโดยตรงระหว่างมหาอำนาจทั้งสอง เป็นผลให้มีการจัดตั้งสายด่วนมอสโก–วอชิงตัน ข้อตกลงหลายฉบับในเวลาต่อมาก็ได้ลดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ กับโซเวียตเป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายกลับมาขยายคลังอาวุธนิวเคลียร์อีกครั้งในท้ายที่สุด