30 กันยายน 2564 นางสาวนารถนารี รัฐปัตย์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เปิดเผยว่า ตามที่หลายจังหวัดของประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคใต้ ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม และดินสไลด์ ส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าว ประสบปัญหาทั้งทางตรงและทางอ้อมในการประกอบอาชีพ ธนาคารมีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ออก 2 มาตรการเร่งด่วน ช่วยเหลือลูกค้าที่จะได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้ ได้แก่
1.มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term loan) โดยให้สิทธิ พักชำระเงินต้น สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน ส่วนสัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (Promissory Note : P/N) พักชำระดอกเบี้ย สูงสุดไม่เกิน 3 เดือน ทั้งนี้ พิจารณาแนวทางช่วยเหลือตามผลกระทบของลูกค้าแต่ละราย
2.มาตรการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ เพื่อให้ลูกค้าธนาคารที่ได้รับความเสียหาย มีเงินทุนไปฟื้นฟูและหมุนเวียนในกิจการ คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.99 ต่อปี ตลอดอายุสัญญา ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 5 ปี ปลอดชำระคืนเงินต้น (Grace Period) ไม่เกิน 1 ปี วงเงินสินเชื่อสูงสุดต่อราย ดังนี้ 1.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท ให้วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 5 แสนบาท 2.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติรวมมากกว่า 1 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท และ 3.ลูกหนี้ที่มีวงเงินอนุมัติมากกว่า 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาท ทั้งนี้รวมวงเงินเดิมแล้วไม่เกิน 15 ล้านบาท ส่วนหลักประกันให้พิจารณาหลักประกันเดิมก่อน และสามารถใช้หลักประกัน บสย. ค้ำประกัน เฉพาะมาตรการที่เพิ่มไม่เกิน 2 ล้านบาท
ทั้งนี้ SME D Bank กำหนดพื้นที่จังหวัดช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ 39 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, แพร่, ลำพูน, ลำปาง, สุโขทัย, ตาก, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, กำแพงเพชร, พิจิตร, นครสวรรค์, เลย, ชัยภูมิ, นครราชสีมา, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, อุบลราชธานี, จันทบุรี, ระยอง, ตราด, พระนครศรีอยุธยา, ชลบุรี, ลพบุรี, นครนายก, สมุทรปราการ, ระนอง, กระบี่, ตรัง, นครศรีธรรมราช, ขอนแก่น, บุรีรัมย์, สุรินทร์, อุทัยธานี, ชัยนาท, สุพรรณบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง และนครปฐม ทั้งนี้ ธนาคารพร้อมจะประกาศพื้นที่จังหวัดได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม ตามที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จะมีประกาศเพิ่มเติมต่อไป
นอกจากนั้น สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการเงินทุนเสริมสภาพคล่องฟื้นฟูธุรกิจ ภายหลังภัยพิบัติผ่านพ้นไปแล้ว ธนาคารได้จัดเตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไว้รองรับ โดยเงื่อนไขผ่อนปรน ปรับคุณสมบัติยืดหยุ่น ด้วยการใช้รายได้ฐานปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 และยึดหลักความตั้งใจชำระคืนหนี้ ช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งทุนได้สะดวก เช่น สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 2.875% ต่อปี ใน 3 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท และ สินเชื่อรายเล็ก Extra Cash อัตราดอกเบี้ยต่ำ 3% ต่อปี ใน 2 ปีแรก วงเงินกู้สูงสุด 3 ล้านบาท ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน เป็นต้น ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถติดต่อใช้บริการได้ที่สาขา SME D Bank ทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1357