21 กันยายน 2564 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การรถไฟฯ พร้อมเปิดให้บริการเดินรถตามแนวทางการผ่อนปรน และรองรับความต้องการเดินทางของผู้ใช้บริการ ทั้งขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน และรถเร็วในเส้นทางสายใต้ สายเหนือ และสายตะวันออกเฉียงเหนือ การรถไฟฯ จึงได้พิจารณาเปิดเดินขบวนรถเพิ่ม จำนวน 18 ขบวน ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงมีความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนเวลา สถานีต้นทางปลายทางของขบวนรถในบางขบวนใหม่ และขบวนรถจะไม่หยุดรับ-ส่งผู้โดยสาร ในช่วงเวลาประกาศเคอร์ฟิว ระหว่างเวลา 21.00 น. ถึง 04.00 น. ในจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด โดยเริ่มเปิดให้บริการเดินรถ ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ดังนี้
สายเหนือ เปิดเดินขบวนรถเพิ่ม จำนวน 4 ขบวน
- ขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางที่ 7/8 กรุงเทพ - เชียงใหม่ - กรุงเทพ
- ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 9/10 กรุงเทพ - เชียงใหม่ – กรุงเทพ
สายใต้ เปิดเดินขบวนรถเพิ่ม จำนวน 8 ขบวน
- ขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลรางที่ 43/40 กรุงเทพ - สุราษฎร์ธานี - กรุงเทพ
- ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 31/32 กรุงเทพ - ชุมทางหาดใหญ่ – กรุงเทพ
- ขบวนรถด่วนที่ 83/84 กรุงเทพ - ตรัง - กรุงเทพ
- ขบวนรถด่วนที่ 85/86 กรุงเทพ - นครศรีธรรมราช – กรุงเทพ
สายตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 6 ขบวน
- ขบวนรถเร็วที่ 139/140 กรุงเทพ - อุบลราชธานี - กรุงเทพ
- ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 23/24 กรุงเทพ - อุบลราชธานี – กรุงเทพ
- ขบวนรถด่วนดีเซลรางที่ 71/72 กรุงเทพ - อุบลราชธานี - กรุงเทพ
ขบวนรถที่ปรับเปลี่ยนสถานีต้นทาง/ปลายทาง จำนวน 2 ขบวน
- ขบวนรถเร็วที่ 171/172 กรุงเทพ - ชุมทางทุ่งสง - กรุงเทพ ปรับเป็น กรุงเทพ – สุไหงโกลก – กรุงเทพ
นายนิรุฒ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรถไฟฯ ได้ทยอยปรับเพิ่มการเดินรถให้สอดรับกับการผ่อนคลายมาตรการของ ศบค. และรองรับความต้องการเดินทางของประชาชนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม2564 ได้เปิดให้บริการเดินขบวนรถเชิงพาณิชย์เพิ่มเติม 8 ขบวน ประกอบด้วย สายเหนือ 2 ขบวน สายตะวันออก
เฉียงเหนือ 4 ขบวน สายใต้ 2 ขบวน และเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ได้เปิดให้บริการเดินขบวนรถเชิงสังคมเพิ่มเติม 20 ขบวน ประกอบด้วย สายเหนือ 4 ขบวน สายตะวันออกเฉียงเหนือ 4 ขบวน สายใต้ 4 ขบวน สายตะวันออก 4 ขบวน สายแม่กลอง 4 ขบวน พร้อมทั้ง ยังคงเปิดให้บริการขบวนรถท้องถิ่นแก่ประชาชน
ทุกพื้นที่ รวมถึงพื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สงขลา ยะลา ปัตตานี และนราธิวาสตามปกติอีกด้วย
ทั้งนี้ ในการปรับการให้บริการเดินรถในครั้งนี้ การรถไฟฯ ได้คำนึงถึงความสะดวกในการให้บริการประชาชน ควบคู่กับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด–19 ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด โดยได้กำหนดจุดคัดกรองวัดไข้ผู้โดยสารก่อนเข้าในพื้นที่สถานี การตั้งจุดบริการแอลกอฮอล์ล้างมือ การให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา พร้อมกับให้สแกนแอพพลิเคชันไทยชนะก่อนและหลังใช้บริการ หากผู้โดยสารไม่สามารถใช้แอพพลิเคชันไทยชนะ ให้กรอกข้อมูลการเดินทางแทน พร้อมกับต้องกรอกข้อมูลเดินทางข้ามจังหวัด-ข้ามเขตผ่านเว็บไซต์ “หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” https://covid-19.in.th/ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สำหรับประชาชนที่ต้องการเดินทาง สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ หมายเลขโทรศัพท์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย