นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ได้เสนอแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.การคลังพิจารณา หลังจากนี้ คาดว่านายอาคมว่าจะนำเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่ เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในเดือนนี้ เนื่องจากว่า โครงสร้างภาษีใหม่ ต้องมีผลบังคับใช้ภายในวันที่ 1 ตุลาคม 2564
ยืนยันว่า กรมสรรพสามิต ได้พิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่อย่างรอบคอบแล้ว เป็นการแก้ปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เคยเกิดในอดีต ตอบโจทย์ใน 4 เรื่องหลัก คือ
1. ด้านสาธารณสุข
2. ด้านเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ จะต้องได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
3. ด้านรายได้ของรัฐบาลจะต้องไม่ลดลง และ
4. ด้านการดูแล บริหารจัดการบุหรี่เถื่อน และบุหรี่ปลอม
ภายใต้โจทย์ทั้ง 4 เรื่องนี้ โครงสร้างภาษีใหม่อาจจะไม่ใช่สิ่งที่กลุ่มผู้ค้าบุหรี่บางกลุ่มต้องการ เพราะว่ามีข้อเสนอที่สุดโต่งเกินไป
นายลวรณ กล่าวว่า ยังบอกไม่ได้ว่า โครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะเป็นอัตราเดียว หรือ 2 อัตรา เหมือนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่โดยภาพรวมภาระภาษีจะปรับเพิ่มขึ้น เพราะภาษีใหม่ต้องตอบโจทย์ทั้ง 4 เรื่องหลักดังกล่าว และกรมสรรพสามิต รู้ว่าจุดยืนของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เป็นอย่างไร เช่น ในด้านสาธารณสุขก็จะมีความเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ จึงอยากให้ขึ้นภาษีสูง ๆ ซึ่งกรมฯ จะมองด้านสุขภาพอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมองด้านอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เพื่อให้อุตสาหกรรมบุหรี่ทั้งอุตสาหกรรมยังเดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตได้เสนอให้กระทรวงการคลังนำโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่เสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาในวันที่ 21 ก.ย. 2564 เพื่อจะได้มีเวลาให้ ครม. พิจารณาตัดสินใจ หากมีข้อปัญหาที่จะต้องเปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงก็จะมีเวลาพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไปได้ทัน และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. นี้
ขณะที่ ผู้ค้าบุหรี่ ได้เริ่มมีการกักตุนสินค้ามานานหลายเดือนแล้ว เพราะเป็นที่คาดการณ์กันว่าอัตราภาษีตามโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะมีการปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน ถึงแม้มูลค่าจะไม่ปรับขึ้นจาก 20% เป็น 40% ตามกฎหมายเดิม แต่อัตราการจัดเก็บขั้นต่ำตามมูลค่าของโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่จะมากกว่า 20% แน่นอน แต่คงไม่ถึง 40%
เบื้องต้นมีการคาดการณ์กันในตลาดผู้ค้าบุหรี่ ว่า ราคาบุหรี่หลังโครงสร้างภาษีบุหรี่ใหม่มีผลบังคับใช้ ราคาขายปลีกบุหรี่อาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้น 6-8 บาทต่อซอง