กรณี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) แจ้งความดำเนินคดีกับข้าราชการในสังกัด หลังตรวจพบว่านายพิศาล ทุจริตยักยอกเงิน 13 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่จะนำไปช่วยเหลือกลุ่มคนเปราะบางในสังคมในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยทำการโอนเงินจำนวนดังกล่าวเข้าบัญชีตนเอง
19 กันยายน 2564 นางพัชรี อาระยะกุล ปลัด พม. แถลงข่าวกรณีนักพัฒนาสังคมทุจริตเงินกลุ่มเปราะบาง ภายหลังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวได้ ผ่านการถ่ายทอดสด(Live) ผ่าน เพจ Facebook พม. (SocialMsociety)
นางพัชรี กล่าวว่า กรณีการทุจริตเงินของทางราชการของนายพิศาล สุขใจธรรม นักพัฒนาสังคมชำนาญการ ในเบื้องต้น กระทรวง พม. ได้ให้ออกจากราชการไว้ก่อน และอายัดเงินในบัญชีทั้งหมด เพื่อทำให้ตรวจสอบเงินในบัญชีได้มากขึ้น และไม่ให้มีการถ่ายโอนเงินไปให้บัญชีของผู้อื่น นอกจากนี้ ยังให้ทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตรวจสอบเส้นทางการเงินที่ผู้กระทำความผิดได้ยักยอกเงินของกระทรวง พม. แล้วถ่ายโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัว และมีการโอนเงินเข้าบัญชีของใครต่อหรือไม่ เพื่อจะได้เอาผิดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
กระทรวง พม. ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อจะตรวจสอบว่ามีผู้กระทำความผิดเพียงคนเดียว หรือมีบุคคลอื่น หรือหน่วยงานอื่นเกี่ยวข้องร่วมกันกระทำความผิดด้วยหรือไม่
ทั้งนี้ จากข้อมูลเบื้องต้นทราบว่า มีการกระทำความผิดในปีนี้ 2564 เนื่องจากในการดูแลเรื่องงบประมาณนั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะเข้ามาดำเนินการตรวจสอบหน่วยงานเป็นประจำทุกปี ทำให้ผู้กระทำความผิดเร่งถ่ายโอนเงินสิ้นปีงบประมาณ 2564 ภายในเดือนกันยายนนี้ และรีบหนีไปก่อน ที่ สตง. จะเข้ามาตรวจสอบและพบการกระทำความผิด
กรณีดังกล่าว กระทรวง พม. จะถอดบทเรียนในการแก้ไขระบบเพื่อไม่ให้เกิดการทุจริตขึ้นอีก เนื่องจากอาจมีช่องว่างของระบบตัวบุคคลที่มอบหมายให้รับผิดชอบในการเบิกจ่ายต่างๆ ถึงแม้จะมี 3 คน แต่ด้วยความเชี่ยวชาญด้านการเงินในระบบ IT ของราชการถือว่ามีจุดอ่อนเยอะมาก จำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยน โดยจะต้องปรับบุคคลที่เคยทำงานอยู่ในสังกัดกรมนี้ให้ย้ายไปทำงานกรมอื่น มีการสลับหน่วยงานในแต่ละกรมสังกัดกระทรวง พม. เพื่อไม่ให้เกิดการไว้วางใจ มีการมอบรหัสเบิกจ่ายเงิน และอาจจะให้หน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบ IT มาช่วยดูระบบของกระทรวง พม. ทั้งหมด
ขณะนี้ ได้มีการเปลี่ยนรหัสใหม่ทั้งหมดของกระทรวง พม. เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้กระทำความผิดเข้ามายักยอกเงินได้อีก และในอนาคตจะต้องมีการปรับระบบใหม่ทั้งหมด ว่ามีช่องว่างอย่างไรนอกจากตัวบุคคล หากพบว่ามีช่องว่างตรงไหนก็จะปิดระบบตรงนั้นสำหรับในส่วนของการป้องกันการทุจริตนั้น กระทรวง พม. จะได้ร่วมมือกับ ปปท. และปปง. เพื่อหารือถึงแนวทางร่วมกันในการแก้ไขกรณีดังกล่าวที่เป็นเคสตัวอย่าง เป็นการทุจริตเงิน โดยไม่ได้จับเงินเลย เราจะทำอย่างไรเพื่อป้องกันการทุจริตในอนาคต
นายภูมิวิศาล เกษมศุข รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวว่า ทันทีที่สำนักงานป.ป.ท. ได้รับแจ้งข้อมูล พันตำรวจโท วันนพ สมจินตนากุล เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ท. ได้มีข้อสั่งการให้เร่งประสานงานกับกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง จนสามารถบังคับใช้กฎหมายนำคนที่กระทำความผิดมาลงโทษได้ ในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะเลขานุการของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ซึ่งมีหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือและกำกับการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ในกรมต้นสังกัดที่มีเจ้าหน้าที่กระทำการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามนโยบายการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็จะดำเนินการติดตามการดำเนินการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ว่าจะดำเนินการทางปกครองและทางวินัยแก่ข้าราชการผู้กระทำความผิดอย่างไร ต่อไป
ทั้งนี้ ผู้ต้องหารายดังกล่าว เป็นผู้ต้องหาตามหมายศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหา "ฉ้อโกง" โดยกรณีดังกล่าวได้รับการประสานจาก พม. ให้เข้าจับกุมตัวผู้ต้องหารายนี้ โดยสามารถจับกุมตัวได้ที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ขณะที่กำลังหลบหนีไปประเทศเพื่อนบ้าน เบื้องต้น ผู้ต้องหายังให้การปฏิเสธ ดังนั้น จึงต้องทำการสอบปากคำอย่างละเอียดอีกครั้ง ซึ่งหลังจากกระบวนการสอบปากคำ และบันทึกการจับกุมแล้วเสร็จ ก็จะนำตัวผู้หาส่งฟ้องศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางในวันพรุ่งนี้ (20 ก.ย.)