19 กันยายน 2564 จากกรณีที่กรมศุลกากร เตรียมพิจารณาปรับลดพิกัดอัตราขาเข้าสินค้าประเภทไวน์ สุรา และยาสูบประเภทซิการ์ลงกึ่งหนึ่ง เป็นเวลา 5 ปี ตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2564 เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงเข้ามาพำนัก และลงทุนในประเทศ
ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และหัวหน้าโครงการวิจัย ติดตามและเฝ้าระวังอุตสาหกรรมยาสูบในประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นว่า “ถือว่าผิดความคาดหมายของภาคีเครือข่ายนักวิชาการควบคุมยาสูบ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างมาก ซึ่งทราบกันดีว่ากระทรวงการคลังจะเสนออัตราภาษีบุหรี่ใหม่ให้กับคณะรัฐมนตรีเพื่อมาแทนระบบภาษีปัจจุบันที่ใช้ระบบ 2 อัตรา ให้ทันวันที่ 1 ตุลาคม 2564
ซึ่งข้อเสนอของภาคนักวิชาการควบคุมยาสูบ เสนอให้ใช้อัตราภาษีเดียวในบุหรี่ทุกประเภท
และภาษีอัตราใหม่จะต้องมีผลให้บุหรี่ทุกประเภทมีราคาไม่ถูกลงจากราคาปัจจุบัน
เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน วัยรุ่น ไม่ให้เข้าถึงบุหรี่ได้ง่าย ที่สำคัญภาครัฐจะมีรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มมากขึ้น”
ประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษีบุหรี่โดยเปลี่ยนจากภาษีอัตราเดียวเป็นสองอัตรา เมื่อปี 2560 ทำให้คะแนนประเมินภาษีบุหรี่ของไทย โดย University of Illinois Chicago ในปี 2561 ได้ 1.75 คะแนน ลดลงจาก 2.25 คะแนน ในปี 2559 เป็นช่วงก่อนการปรับโครงสร้างภาษี นอกจากจะทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีลดลงแล้ว ยังส่งผลให้ปริมาณบุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้นอีกด้วย คือจาก 3.4% เมื่อปี 2557 เพิ่มเป็น 5.7% ในปี 2561
ยกตัวอย่าง “ฟิลิปปินส์” เป็นประเทศที่มีการปฏิรูประบบภาษีบุหรี่ที่ดี โดยรัฐบาลมีนโยบายการปรับขึ้นภาษีทุกปี ปีละ 4% มาตั้งแต่ปี 2555 มีการปรับโครงสร้างภาษีจากที่เคยมี 4 ระดับ จนปัจจุบันลดลงมาเหลือเพียงระดับเดียว จากที่เคยเก็บภาษีในอัตรา 2.72 เปโซต่อซอง ในบุหรี่กลุ่มราคาถูกที่สุด ปรับเพิ่มมาเก็บภาษีในอัตรา 30 เปโซต่อซอง ซึ่งจัดเก็บอัตราภาษีบุหรี่เท่ากันทุกกลุ่มราคา
ผลที่ตามมาคือ รัฐบาลได้รายได้จากภาษีบุหรี่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อัตราการสูบบุหรี่ลดลง และยังส่งผลให้ปริมาณบุหรี่เถื่อนลดลงด้วย
โดยฟิลิปปินส์ มีคะแนนประเมินภาษีบุหรี่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 1.25 คะแนน เมื่อปี 2557 ขึ้นมาเป็น 2.5 คะแนนในปี 2559 และ 3.75 คะแนน ในปี 2561 จากคะแนนเต็ม 5 คะแนน และสัดส่วนบุหรี่เถื่อนในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 12.2% เมื่อปี 2557 ลดเหลือ 10.8 ในปี 2561
บทเรียนการปฏิรูปภาษีบุหรี่ของฟิลิปปินส์แสดงให้เห็นว่า
การขึ้นภาษีบุหรี่ไม่ได้ทำให้บุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด กลับช่วยทำให้ปริมาณบุหรี่เถื่อนลดลงด้วย
“ยิ่งใกล้วันที่จะประกาศอัตราภาษีแบบใหม่ มักมีการนำเสนอข่าวประเด็นบุหรี่เถื่อนอย่างต่อเนื่อง บุหรี่เถื่อน หรือบุหรี่ผิดกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือกดดันรัฐบาลไม่ให้ขึ้นภาษีบุหรี่มาทุกยุคสมัย แต่ข้ออ้างนี้ได้รับการยืนยันจากองค์การอนามัยโลกแล้วว่าไม่เป็นความจริง
จากการศึกษาข้อมูลโดยองค์การอนามัยโลก พบว่าการขึ้นภาษีบุหรี่หรือการทำให้บุหรี่มีราคาแพงขึ้น ไม่ได้ทำให้บุหรี่เถื่อนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่สิ่งที่ทำให้บุหรี่เถื่อนยังคงอยู่ ได้แก่ การไม่เอาจริงของรัฐบาลในการปราบปราม ระบบศุลกากรและระบบภาษีที่ไม่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ” ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า กระทรวงการคลัง และคณะรัฐมนตรี จะรู้ทันบริษัทบุหรี่ ไม่หลงกลการนำบุหรี่เถื่อนมาเป็นข้ออ้างไม่ให้ขึ้นภาษี ขอให้คณะรัฐมนตรี เห็นชอบอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ที่คำนึงถึงสุขภาพ และชีวิตของคนไทย
โดยอัตราภาษีใหม่ควรเป็นอัตราเดียว และต้องทำให้ราคาบุหรี่ขายปลีกมีราคาสูงขึ้นกว่าปัจจุบัน เพื่อสร้างเงื่อนไขที่จะทำให้คนเลิกสูบหรือสูบน้อยลง และป้องกันไม่ให้เด็ก เยาวชน เข้ามาเสพติดบุหรี่ เพราะการที่บุหรี่มีราคาถูกเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กและเยาวชนเข้ามาติดบุหรี่
จะต้องทำควบคู่กับการออกนโยบายเพื่อจัดการบุหรี่เถื่อนอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องสุขภาพของคนไทยให้ปลอดภัยจากบุหรี่ และลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพจากโรคที่เกิดจากบุหรี่ของประเทศไทย
ทั้งนี้ ระบบภาษีที่ใช้อยู่ในขณะนี้คือ เป็นระบบ 2 อัตรา คือ บุหรี่ที่มีราคาขายปลีกต่ำกว่าซองละ 60 บาท เก็บภาษี 20% และบุหรี่ที่มีราคาขายปลีกสูงกว่า 60 บาท เก็บภาษี 40% ซึ่งระบบภาษีนี้มีจุดอ่อนที่เปิดโอกาสให้บริษัทบุหรี่ลดราคาขายปลีกลงมาเท่ากับหรือต่ำกว่าซองละ 60 บาท เพื่อเสียภาษีน้อยลง ทำให้ราคาขายปลีกเฉลี่ยลดลง รัฐบาลเก็บภาษีได้ลดลง