18 กันยายน 2564 นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ "ทีมกรุ๊ป" ได้เปิดเผยข้อมูลเชิงวิเคราะห์ ระบุว่า
ปลายฤดูฝนนี้ ไทยมีฝนตกมากกว่าปีปกติประมาณ 5-10% แต่ไม่มีน้ำท่วมใหญ่แต่อย่างใด และจะไม่ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ ในพื้นที่หลักทั้ง 12 จุด
สรุปข้อมูลจากบทวิเคราะห์ ทีมข่าวรวบรวมมาให้ "คอข่าว" ได้รับทราบดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. ปลายปี 2564 ไทยมีน้ำท่วมบางพื้นที่เท่านั้น
ฝนที่จะตกในเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน ในปี 2564 จะมีปริมาณปกติหรือมากกว่าปีปกติเล็กน้อย จะมีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่ที่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำเป็นบางพื้นที่เท่านั้น ไม่ได้เกิดน้ำท่วมเป็นพื้นที่ในวงกว้างเหมือนปี 2554 แต่อย่างใด
ในปี 2564 มีโอกาส 60% ที่จะเกิดปรากฏการณ์ "ลานินญ่า" (ฝนมากน้ำมาก) อาจจะเกิดขึ้นได้ในเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงที่ฝนจะตกในภาคกลางและภาคอีสานตอนล่าง อีกทั้ง มีโอกาส 70% ที่จะมีฝนตกมากในเดือนพฤศจิการยน 2564 - มกราคม 2565 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฝนจะตกมากขึ้นในภาคใต้
แม้จะดูเหมือนปีนี้มีปริมาณน้ำมาก แต่หากเปรียบเทียบกับในต่างประเทศ ปีนี้ไทยจะไม่มีน้ำท่วมรุนแรงเหมือนที่เกิดในประเทศจีน, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์ หรือเมืองนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ดังที่เห็นในช่วงที่ผ่านมา
2. กรณีนิคมบางปู น้ำท่วมเพราะระบายไม่ทัน
กรณีน้ำท่วมในพื้นที่ "นิคมอุตสาหกรรมบางปู" เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมานั้น สาเหตุหลักเกิดจากระบบการระบายน้ำของตัวนิคมที่ระบายน้ำไม่ทัน รวมถึงการดูแลบำรุงรักษาระบบระบายน้ำของพื้นที่นิคมเองยังไม่ดีพอ เมื่อมีฝนตกในปริมาณ 114 ม.ม.ต่อวัน จึงทำให้ระบายน้ำจากในพื้นที่นิคมไม่ทัน (ประมาณ 4,400 ไร่)
3. กลางปีฝนน้อย ปลายปีฝนอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม - กลางเดือนกรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา พบว่ามีฝนตกน้อยกว่าปกติ แต่ในช่วงหลังวันแม่เป็นต้นมา สภาพอากาศก็เข้าสู่เกณฑ์ปกติของฤดูฝน ทำให้มีฝนตกมากขึ้นกว่าช่วง 2 เดือนก่อน (ทำให้รู้สึกว่าฝนตกมากผิดปกติ ทั้งๆ ที่ในความจริงคือ ฝนตกในเกณฑ์ปกติ)
โดยในภาคเหนือ ภาคกลาง ภาตะวันออก มีปริมาณฝนเข้าเกณฑ์ปกติเหมือนปีที่แล้ว ถัดมาในเดือนกันยายน 2564 ก็มีฝนตกในเกณฑ์ปกติเช่นกัน ส่วนเดือนตุลาคม 2564 จะมีฝนตกมากกว่าปีปกติเล็กน้อย
4. "ภาวะโลกร้อน" ไม่กระทบไทย
อีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้ไทยไม่เกิดน้ำท่วมใหญ่ในปีนี้ นั่นคือ อิทธิพลของ "ภาวะโลกร้อน" โดยภาวะดังกล่าวมักจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประเทศที่อยู่ใกล้ขั้วโลก แต่เนื่องจาก ประเทศไทย อยู่ห่างจากขั้วโลกและใกล้เส้นศูนย์สูตร อิทธิพลของภาวะโลกร้อนจึงส่งผลกระทบไม่มาก
5. ประเทศไทยมีเกราะกำบังอย่างดี
ประเทศไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีเกราะกำบังไว้ดี ทางตะวันออกมีเวียดนาม กัมพูชา และลาวบังอยู่ ส่วนทางตะวันตกก็มีพม่าบังอยู่ ดังนั้น การจะเกิดฝนตกรุนแรงในไทยนั้น มีโอกาสเกิดได้ไม่มาก ขณะที่เวียดนามและพม่าซึ่งอยู่ติดกับทะเลหลวง จึงทำให้มีพายุฝนรุนแรงกว่าไทย
6. แม้ปีนี้ไม่มีน้ำท่วมใหญ่ แต่ต้องเฝ้าระวัง!
สำหรับบางพื้นที่ที่ยังไม่ได้ก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วม และระบบระบายน้ำตามแผน (มีงบประมาณไม่เพียงพอ และยังไม่เห็นความสำคัญของการจัดสรรเงินงบประมาณมาใช้ในการก่อสร้างให้เพียงพอ) ก็ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยต้องเตรียมขุดลอกสิ่งปฏิกูลและวัชพืช ออกจากท่อระบายและคูคลอง รวมถึงควรเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วย
7. กรุงเทพฯ 12 จุดเสี่ยง ยังบริหารจัดการได้
สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่ามีจุดอ่อน 12 จุด ที่เสี่ยง เมื่อมีฝนตกลงมาในปริมาณมากเป็นเวลานาน ก็จะเกิดน้ำท่วมขัง ระบายไม่ทัน (ดังแสดงในภาพข้างต้น)
หากเป็นระบบของกรมชลประทาน และ กทม. จะมีการดูแลบำรุงรักษาระบบที่มีอยู่ในปัจจุบันให้ใช้งานได้ดีเสมอ ในภาพรวม พื้นที่ กทม. ยังสามารถบริหารจัดการได้
ทั้งนี้ นายชวลิต จันทรรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ "ทีมกรุ๊ป" ยังมีข้อแนะนำที่ฝากถึงประชาชน
"ทุกพื้นที่ ต้องทำการบำรุงรักษา "ระบบระบายน้ำ" ที่มีอยู่แล้ว ให้มีประสิทธิภาพ และเตรียมความพร้อมในการเผชิญเหตุ ที่จะเกิดน้ำท่วมขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มต่ำ หรือพื้นที่ที่มีสิ่งกีดขวางทางน้ำ"