กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส สุรพงษ์ เลาหะอัญญา ระบุ เมื่อวันที่ 16 ก.ย. ศาลอาญาคดีทุจริตประพฤติมิชอบกลาง ได้นัดคู่ความในคดีบีทีเอสได้ฟ้องคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) รวมทั้งผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ภายหลังจากที่ศาลได้มีคำสั่งรับฟ้องไว้พิจารณา เพื่อไต่สวนมูลฟ้องกรณีแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การคัดเลือกโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยศาลได้สอบถามคู่ความแล้วมีคำสั่งให้เลื่อนไปพิจารณาพยานหลักฐานกันอีกครั้งในวันที่ 25 ต.ค. 2564 เวลา 13.30 น. เนื่องจากทางโจทก์และจำเลยขอให้ศาลออกหมายเรียกเอกสารเพิ่มเติม
ทั้งนี้ จำเลยไม่ได้เดินทางมาศาลครั้งนี้ โดยได้มอบหมายให้ทนายความมาแทน ซึ่งต่อจากนี้ในส่วนของทางคดี ก็คงต้องรอการไต่สวนตามที่ศาลกำหนดนัดต่อไปว่า สุดท้ายแล้วศาลจะมีคำพิพากษาออกมาว่า คดีมีมูลหรือไม่ต่อไป โดยในความเห็นส่วนตัว ได้ปรึกษากับทีมทนายแล้ว คดีนี้ทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย รวมทั้งพยานหลักฐานต่างๆ มีความชัดเจนเป็นที่รับทราบทั่วไป ที่สำคัญคือพยานฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐและเอกสารต่าง ๆ ระบุชัดเจนว่า สิ่งที่คณะกรรมการคัดเลือกและรฟม. ดำเนินการมามีประเด็นปัญหาในเรื่องความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามที่ศาลเคยมีคำสั่ง ซึ่งส่งผลต่อการยื่นข้อเสนอและการพิจารณาผลในโครงการนี้อย่างแน่นอน
“การที่เรานำคดีฟ้องเข้าสู่ศาลนี้ ได้ปรากฏพยานเอกสาร หลักฐานต่าง ๆ เพื่อนำมา พิสูจน์ความจริงและความถูกต้องในสิ่งที่เรายืนยัน ซึ่งเท่าที่เราได้รับเอกสารในสำนวนขณะนี้ เราพบว่ามีเอกสารหลายรายการที่เราพยายามขอเพื่อมายืนยันความเข้าใจของเราว่า เราเข้าใจถูกต้องหรือไม่ แต่ก็ไม่เคยได้ มาวันนี้เอกสารบางอย่างนั้นมาปรากฏในชั้นศาลแล้ว ซึ่งตรงกับความเข้าใจของเราจึงยิ่งทำให้เรามีความเชื่อมั่นในการเดินหน้าต่อสู้ในเรื่องนี้ต่อไป”นายสุรพงษ์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (17 ก.ย.) บีทีเอสจะออกหนังสือไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 เพื่อเรียกร้องให้ผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องนี้ ลงมาแก้ไขปัญหาและทำเรื่องนี้ให้ถูกต้องตามระเบียบและกฎหมายต่อไป เพราะนับตั้งแต่เกิดปัญหาการแก้ไขหลักเกณฑ์การคัดเลือกเอกชน มาจนถึงวันนี้เวลาผ่านมาปีเศษแล้ว เรื่องนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ งบประมาณเป็นแสนล้าน หากไม่เป็นประเด็นปัญหาซับซ้อน คงไม่ถูกปล่อยทิ้งไว้เนิ่นนานเช่นนี้ ทางบีทีเอสอยากให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบลงมาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง คงปล่อยให้ รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกดำเนินการไปเรื่อยๆเช่นนี้ คงไม่เกิดประโยชน์
ส่วนประเด็นที่ผู้ว่ารฟม. ออกมาแถลงข่าวเมื่อวันที่ 1 ก.ย. โดยสรุปว่าคดีความในศาลปกครองเสร็จสิ้นหมดแล้ว คงเหลือคดีที่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ เพียงคดีเดียว และจะเดินหน้าการประมูลโครงการนี้ โดยจะสามารถออกทีโออาร์ใหม่ได้ภายในเดือนต.ค.นี้ ต้องขอทำความเข้าใจไปถึงคณะกรรมการคัดเลือก ผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง และอาจจะต้องนำเรียนไปยังรัฐบาลว่าบีทีเอสมีคดีความกับรฟม. และคณะกรรมการคัดเลือก 3 คดี แยกเป็นคดีปกครอง 2 คดี และคดีอาญาทุจริต 1 คดี ยืนยันว่าทั้ง 3 คดี ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ไม่ได้เสร็จสิ้นไปตามที่ผู้ว่า รฟม.แถลง
ส่วนประเด็นที่จะเดินหน้าโครงการต่อ ทางบีทีเอสไม่ขัดข้องและเคารพใน
คำตัดสินของศาล แต่รฟม. และคณะกรรมการคัดเลือกต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย บีทีเอสพร้อมเข้าร่วมแข่งขันในกฎกติกา และการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรม แต่หากกติกาที่จะออกมาใหม่เปลี่ยนแปลงไปจากหลักการโครงการที่ สคร.ได้เคยนำเสนอครม. จนครม. มีมติเห็นชอบ และคณะกรรมการคัดเลือกเอาหลักเกณฑ์ดังกล่าวไปรับฟังความคิดเห็นจากเอกชน จนมาออกประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนแล้ว เห็นว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปจากนี้ล้วนไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งสิ้น