นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (โฆษก ศธ.) เปิดเผยว่า นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานและเข้าร่วมการประชุมหารือร่วมกัน 3 กระทรวงคือ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย เพื่อหาแนวทางการเปิดเรียนอย่างปลอดภัยร่วมกัน และได้มอบหมายผู้รับผิดชอบ ประสานงานเพื่อนำแนวนโยบายลงสู่การปฏิบัติ ในวันที่ 9 กันยายน 2564 จึงได้มีการประชุมเพื่อหารือแนวทางต่อยอด การดำเนินงาน SSS: Sandbox Safety zone in School และแนวทางการบริหารวัคซีนในเด็กนักเรียน ณ ห้องประชุมราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อลงสู่การปฏิบัติต่อไป โดยมี นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ นายเทอดชาติ ชัยพงษ์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสมใจ วิเศษทักษิณ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นายประยูร หรั่งทรัพย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และนายแพทย์ศราวุฒิ บุญสุขรอง อธิบดีกรมอนามัย ได้ร่วมประชุมหารือแนวทางการดำเนินงานดังกล่าว
นางเกศทิพย์ กล่าวว่า ในที่ประชุมได้หารือเรื่องการดำเนินงาน SSS: Sandbox Safety zone in School สำหรับโรงเรียนประจำ ซึ่งในระยะแรกได้ดำเนินการไปแล้วทั้งหมด 44 โรงเรียน จาก 68 โรงเรียนที่สมัครเข้าโครงการเฟสแรก และจะมีการขยายผลต่อไป พร้อมทั้งเน้นย้ำเรื่องของการฉีดวัคซีนครูและบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งในขณะนี้ได้รับวัคซีนไปแล้วประมาณ 70% ทั่วประเทศ จะต้องให้ได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน รวมถึงเตรียมข้อมูลเรื่องวัคซีนเข็มที่ 3 และเตรียมมาตรการเปิดเรียนในกลุ่มโรงเรียนไป-กลับ ที่มีความพร้อม โดยจะเสนอให้มีชุมชนและอำเภอ Bubble & Seal ในพื้นที่สีเขียว ไม่มีผู้ติดเชื้อ เพื่อให้นักเรียนกลับมาเรียนที่โรงเรียนตามปกติอย่างเร็วที่สุด
โฆษก ศธ. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการเตรียมการเรื่องวัคซีนในเด็กนักเรียนนั้น ได้มีการกำหนดให้แต่ละจังหวัดทำการรวบรวมรายชื่อนักเรียนที่ต้องการรับวัคซีนและผู้ปกครองให้ความยินยอม โดยให้แต่ละโรงเรียนใช้แบบฟอร์มของกรมควบคุมโรค ซึ่งแผนการจะดำเนินการบนพื้นฐานการฉีดวัคซีนครู โดยร่วมกับสาธารณสุขจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เตรียมการในเรื่องของใบแสดงความยินยอมจากผู้ปกครอง รวมไปถึงการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจ สร้างการรับรู้ และสร้างความมั่นใจ ทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข
"สำหรับการดำเนินงานในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ถึงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายน สร้างความเข้าใจในแต่ละพื้นที่ จากนั้นในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนกันยายนและต้นเดือนตุลาคมหากไม่มีอะไรคลาดเคลื่อน จะเริ่มดำเนินการตามแผนจัดสรรวัคซีนให้แต่ละจังหวัด โดยใช้ฐานข้อมูล School based ร่วมกับงานอนามัยของโรงเรียน กระทรวงสาธารณสุขและส่วนที่เกี่ยวข้องในการเริ่มฉีดวัคซีนให้กับเด็กนักเรียนต่อไป" โฆษก ศธ. กล่าว