svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

คพ. จับมือ สวทช. ใช้ "ซูเปอร์คอมพิวเตอร์"คาดการณ์ฝุ่น PM 2.5

10 กันยายน 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมควบคุมมลพิษ และ สวทช. ได้พัฒนาระบบการคาดการณ์คุณภาพอากาศ โดยใช้ "ซูเปอร์คอมพิวเตอร์" สำหรับใช้ประเมินสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5

วันที่ 10 กันยายน 2564 กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมลงนามกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการคาดการณ์คุณภาพอากาศ และระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ผนึกกำลังบุคลากรและเครื่องมือ ใช้ระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง หรือ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (Supercomputer) จากศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง หรือ ThaiSC พัฒนาการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เฉพาะทางด้านมลพิษทางอากาศ (WRF-chem) เพื่อคาดการณ์แนวโน้มของสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ได้เร็วขึ้นถึง 15 เท่า ช่วยรองรับการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ล่วงหน้า 3 วัน

นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า คพ. ได้พัฒนาระบบการคาดการณ์คุณภาพอากาศ สำหรับใช้ประเมินสถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ พื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล โดยรับการสนับสนุนการใช้งานระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูงหรือ ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ จากสำนักงานพัฒนาพัฒนาวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีแห่งชาติ ทำให้การคาดการณ์สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ของประเทศ มีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจ และวางแผนบริหารจัดการเพื่อตอบโต้สถานการณ์ปัญหามลพิษทางอากาศที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยรัฐบาลและทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว เพื่อการดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง และแผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง 12 ข้อ ทำให้สถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง และได้นำข้อมูลเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์  Air4Thai.com พร้อมสื่อออนไลน์ของทาง คพ. เพื่อรายงานและแจ้งเตือนสถานการณ์มลพิษทางอากาศให้กับประชาชน

คพ. จับมือ สวทช. ใช้ "ซูเปอร์คอมพิวเตอร์"คาดการณ์ฝุ่น PM 2.5

ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผอ. สวทช. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นการร่วมกันพัฒนาขีดความสามารถในการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก โดยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์บนระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ซึ่ง สวทช. มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านและโครงสร้างพื้นฐานอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์ทรัพยากรคอมพิวเตอร์เพื่อการคำนวณขั้นสูง (NSTDA Supercomputer Center) หรือ ThaiSC ซึ่งเป็นหน่วยงานของ สวทช. ที่มีภารกิจหลักตามพันธกิจด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยทำให้คณะทำงานด้านการประมวลผลการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กของ คพ. สามารถประมวลผลระบบคาดการณ์สถานการณ์มลพิษอากาศในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้เร็วขึ้นถึง 15 เท่า จากเดิมใช้เวลาคำนวณ 11.5 ชั่วโมง ลดลงเหลือเพียง 45 นาที ทำให้ คพ.คาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ได้ล่วงหน้าถึง 3 วัน 

คพ. จับมือ สวทช. ใช้ "ซูเปอร์คอมพิวเตอร์"คาดการณ์ฝุ่น PM 2.5

ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือในระยะเวลา 3 ปีแรกนับจากนี้ สวทช. มุ่งหวังว่าจะสามารถสนับสนุนการใช้งานและการให้คำแนะนำปรึกษาเชิงเทคนิค สำหรับการประมวลผลบนระบบคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง เพื่อสนับสนุนให้ทาง คพ.สามารถพัฒนาระบบคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM2.5 ได้อย่างแม่นยำและครอบคลุมพื้นที่ได้ทั่วประเทศ รวมถึงสามารถคาดการณ์สถานการณ์มลพิษอากาศ อื่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารและจัดการคุณภาพอากาศของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

คพ. จับมือ สวทช. ใช้ "ซูเปอร์คอมพิวเตอร์"คาดการณ์ฝุ่น PM 2.5

logoline