10 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง “ปราชญ์สุขภาพเขาวง” อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ โดยได้พบกับนายพงษ์ศักดิ์ นวลบัตร อายุ 51 ปี อยู่บ้านเลขที่ 344 หมู่ที่ 8 ต.กุดสิมคุ้มใหม่ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ประธานศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง "ปราชญ์สุขภาพอำเภอเขาวง" และนางวัลญารัตน์ นวลบัตร อายุ 50 ปี ภรรยา
ซึ่งทั้งสองคนได้เพาะเห็ดระโงกป่าบนคันนา ผลิตเชื้อเห็ดขาย และทำเกษตรกรผสมผสานสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเป็นอย่างดี และแบ่งปันให้กับประชาชน ซึ่งถือเป็นศูนย์เรียนรู้ตัวอย่างให้กับเกษตรกรนำไปปฏิบัติตาม
โดยวันนี้ทั้งสองคน พร้อมลูกหลานกำลังเก็บเห็ดระโงกป่าตามคันนาที่ได้เพาะไว้ เพื่อนำไปประกอบอาหาร และนำไปจำหน่ายตามออเดอร์ที่ลูกค้าสั่ง รวมถึงการนำเห็ดระโงกที่กำลังเติบโตเต็มที่มาแปรรูปเป็นหัวเชื้อเห็ดระโงก เพื่อจำหน่ายและแบ่งปันให้กับเกษตรกรนำไปขยายต่อในพื้นที่นาขายสร้างรายได้
โดยนายพงษ์ศักดิ์ เล่าว่า ในปัจจุบันเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นในวงการอาหารโลกคือ โปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ หรือที่เรียกว่า Plant based Food ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวอีกในอนาคต
เนื่องจากการอุตสาหกรรมปศุสัตว์เป็นตัวการสำคัญที่สร้างผลกะทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ทางเลือกอื่นนอกจากเนื้อสัตว์จริง ๆ กลายมาเป็นที่นิยมขึ้นมา โดยเฉพาะเห็ด ซึ่งส่วนมากเป็นอาหารโปรตีนสูงทดแทนเนื้อสัตว์ อีกทั้งเห็ดก็มีต้นทุนในการผลิตต่ำ และมีรสชาติมากกว่าพืชชนิดอื่น จึงทำให้เห็ดเป็นที่น่าจับตามองในวงการเกษตรทั่วโลก
ตนจึงเริ่มศึกษาหาความรู้ในเรื่องของเห็ดระโงก โดยศึกษาหาข้อมูลจากคนเฒ่าคนแก่ที่มีประสบการณ์ในการหาเห็ดบนภูเขาว่าเห็ดชนิดต่าง ๆ เกิดขึ้นใต้ต้นไม้มีเห็ดชนิดไหนบ้าง ก่อนที่ตนมีความสนใจเกี่ยวกับเห็ดระโงกป่า จึงมีความคิดว่าทำอย่างไรเราจะยกเอาเห็ดป่ามาไว้ในที่นาของเราได้
จากความคิดนี้จึงเริ่มลงมือหาความรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน และจากที่เคยได้ยินผู้เฒ่าผู้แก่บอกว่าเห็ดระโงกมักจะเกิดบริเวณใต้ต้นกะบากและต้นยางนา จากนั้นจึงนำเอาต้นไม้ทั้ง 2 ชนิดนี้มาทดลองปลูกแล้วใช้น้ำหัวเชื้อเห็ดระโงกที่ทำขึ้นเอง ทดลองรดไปใต้ต้นกะบาก และต้นยางนา
หลังจากได้ทดลองปลูกไม้กะบากและไม้ยางนา ประกอบกับได้มีโอกาสเข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับสถาบันจัดการความรู้เกษตรกรรมยั่งยืนภาคอีสาน และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จึงทำให้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเกษตรกรเครือข่าย จึงได้นำความรู้ที่ได้มาเพาะเห็ดระโงกในที่นาของตนเอง
ซึ่งได้เริ่มทำการเพาะเลี้ยงมาตั้งแต่ปี 2552 โดยมีการปรับที่นาในพื้นที่ทั้งหมด 17 ไร่ให้มีคันนาที่ใหญ่กว้างขึ้น เพื่อนำไม้ป่ามาปลูก เน้นไม้กะบากกับยางนาง ทำการรดเชื้อเห็ดระโงก ก่อนที่จะนำไปปลูก ส่วนเชื้อเห็ดระโงกนั้น ก็จะเป็นน้ำเชื้อที่ตนผลิตขึ้นเอง โดยการนำเห็ดระโงกที่โตเต็มที่ แต่ไม่ใช่เห็ดแก่มาปั่นกับน้ำฝนและน้ำจุลินทรีย์จาวปลวก
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันต้นไม้กะบาก และยางนาที่ปลูกไว้เริ่มเจริญเติบโตพอสมควร ปรากฏว่า เริ่มมีผลผลิตเห็ดระโงกออกมา ใต้ต้นกะบาก และยางนาที่ปลูกไว้ตามคันนา และมีผลผลิตออกมาเรื่อย ๆ จึงเก็บไปทำอาหาร และส่งขายกิโลกรัมละ 400 บาท รวมทั้งผลิตน้ำหัวเชื้อเห็ดระโงกขายขวดละ 200 บาทด้วย
นอกจากการเพาะเห็ดระโงกแล้ว ในศูนย์เรียนรู้ปราชญ์สุขภาพเขาวงแห่งนี้ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตรแบบผสมสานตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งการขุดบ่อเลี้ยงปลา ปลูกข้าว ปลูกผัก ปลูกไผ่ป่า ไผ่หวานหวาน และเพาะต้นกล้ากะบากและต้นยางนา ซึ่งสามารถสร้างรายได้เสริมให้กับครอบครัวได้เป็นอย่างดีเฉลี่ยเดือนละ 4-5 หมื่นบาท และยังได้แบ่งบันให้กับพี่น้อง รวมถึงเพื่อนบ้าน และชาวบ้านนำไปขยายผลในพื้นที่ของตนเอง
อย่างไรก็ตามหากพี่น้องประชาชนที่ต้องการเข้ามาศึกษาหาข้อมูลเรียนรู้ หรือต้องการคำแนะนำต่าง ๆ สามารถติต่อผ่านทางเฟซบุ๊กศูนย์เรียนรู้ ปราชญ์สุขภาพอำเภอเขาวง หรือโทร 086-0335044
โดย - จักรพงษ์ ระวิวรรณ