โดย...ปกรณ์ พึ่งเนตร
เริ่มจากภาพใหญ่ที่เห็นกัน ที่ฝ่ายค้านประกาศเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลชุดนี้เป็นครั้งสุดท้าย เรียกว่า "สงครามครั้งสุดท้าย" ขณะที่นอกสภาฯ ก็เคลื่อนรับ กลายเป็นศึกที่เรียกได้ว่า ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ที่ต้องการจะล้มรัฐบาล วางเกมให้เป็น "สงครามครั้งสุดท้าย" จริงๆ
เริ่มจาก
-ในสภา ฝ่ายค้านเปิดเกมจัดหนัก อภิปรายไม่ไว้วางใจ กล่าวหารัฐบาลทุจริต ค้าความตาย
*** ตรงนี้สำคัญที่ต้องดอกจัน *** ก็คือ การริบดาบในมือนายกฯ เหมือนลวงเข้าสู่ "Killing Zone" หรือ "พื้นที่สังหาร" เพราะเป็นช่วงที่นายกฯ ไม่มีอำนาจยุบสภาไว้ต่อรองบรรดาพรรคการเมือง
-นอกสภาฯ จัดชุมนุมใหญ่หลากหลายกลุ่ม กดดันต่อเนื่อง ทั้งเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ยึดพื้นที่หน้าสภาฯ วันที่ 1 ก.ย. กลุ่มของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายสมบัติ บุญงามอนงค์ ขยายวงจากคาร์ม็อบ สู่การม็อบในพื้นที่เศรษฐกิจกลางกรุงเทพฯ ยึดแยกอโศก ในวันที่ 2 ก.ย.
กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นัดวันที่ 3 ก.ย. แต่ยังไม่กำหนดสถานที่ และสุดท้าย กลุ่ม Free Youth หรือ เยาวชนปลดแอก นัดเคลื่อนพลไปสวนลุมฯ วันที่ 4 ก.ย. ซึ่งตรงกับวันลงมติซักฟอก
-นอกประเทศ กลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในต่างประเทศ พากันไปยื่นหนังสือถึงรัฐบาลและองค์กรต่างประเทศ ให้จับตาดู หรือแทรกแซงการเมืองในประเทศไทย โดยอ้างเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน
ขณะที่ "พี่โทนี่" อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ก็จัดมอนิเตอร์อภิปรายส่งตรงจากดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ช่วยสร้างกระแสอีกทาง
แต่ดูเหมือนว่า การเคลื่อนไหวที่ร้อนแรงกว่า มาจากภายในรัฐบาลเอง โดยเฉพาะภายพรรคพลังประชารัฐ ที่มีบางกลุ่มภายในพรรค ตามข่าวอ้างชื่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค และนายวิรัช รัตนเศรษฐกิจ ประธานวิปรัฐบาล เดินเกม "โหวตสวน" เพื่อล้มนายกรัฐมนตรี
จริงๆ กลุ่มนี้ เป็นแกนนำ "กลุ่ม 4 ช." หรือ กลุ่ม 4 รัฐมนตรีช่วย คือ นายสันติ พร้อมพัฒน์ ช่วยคลัง ร.อ.ธรรมนัส ช่วยเกษตรฯ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ช่วยแรงงาน และ อธิรัฐ รัตนเศรษฐ ช่วยคมนาคม ลูกนายวิรัช
กลุ่ม 4 ช. แต่เดิมมีเป้าเขย่าต้นมะม่วง คือ รัฐมนตรีว่าการ 2 เก้าที่ถูกอภิปราย คือ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน กับ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ด้วยการติดต่อให้พรรคเล็ก "โหวตสวน" และให้ ส.ส.พลังประชารัฐ "ฟรีโหวต" เพื่อลดออกเสียง ให้คะแนนไว้วางใจรัฐมนตรี 2 คนนี้ ได้ตัวเลขต่ำๆ จะได้โดนปรับพ้น ครม. โดยมีเป้าหมายอีกคน คือ ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ซึ่งไม่ได้ถูกอภิปราย แต่หว้งให้โดนปรับพ้นไปพร้อมกัน
แต่ไปๆ มาๆ การเคลื่อนไหว "ข้ามเส้น" เหมือนกลุ่มนี้ไปมีดีลกับพรรคเพื่อไทย ให้รุกฆาตล้มรัฐบาล ด้วยการ "ล้มบิ๊กตู่" เพื่อล้างไพ่ใหม่ เพราะหาก "บิ๊กตู่" โดยลงมติไม่ไว้วางใจ ครม.จะพ้นสภาพไปทั้งคณะ
คะแนนเสียงที่ใช้ "ล้มบิ๊กตู่" ไม่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะปัจจุบัน รัฐบาลมี 270 เสียง ฝ่ายค้านมี 212 เสียง สภาผู้แทนราษฎร (เท่าที่ลงมติได้) มี 482 เสียง กึ่งหนึ่ง คือ 241 เสียง หากโหวตแล้ว คะแนนไม่ไว้วางใจได้ 242 เสียงขึ้นไป ก็จะทำให้นายกฯพ้นจากตำแหน่ง รัฐมนตรีคนอื่นที่เหลืออีก 5 คนไม่ต้องโหวต เพราะโดนโค่น พ้นสภาพหมดทั้ง ครม.
ฝ่ายค้านมี 212 เสียง ก็ต้องหาอีก 30 เสียง พรรคเล็ก 1 เสียงที่หนุนรัฐบาลมี 11 เสียง หากรวมกับพรรครักษ์ผืนป่าฯ 2 เสียง เป็น 13 เสียง รวมกับพรรคชาติพัฒนา 4 เสียง และพรรคพล้งท้องถิ่นไทอีก 5 เสียง ก็จะมีเสียงรวมทั้งหมด 22 เสียง ขาดอีกเพียง 8 เสียงเท่านั้น
ขณะที่ ส.ส.พลังประชารัฐกลุ่มหนุน “4ข. คือ สาย “ธรรามนัส-วิรัช” มีอยู่ราวๆ 20 เสียง สองกลุ่มนี้รวมกันก็จะมี 40 กว่าเสียง แม้รัฐบาลจะมี “งูเห่า” ฝากเลี้ยงในพรรคเพื่อไทย แต่ก็น่าจะไม่พอ “พลิกกลับ” มาเป็นฝ่ายชนะได้
ล่าสุด ส.ว.สายสีเขียว (อดีตบิ๊กทหาร) ซึ่งใกล้ชิดกับนายกฯ ยอมรับแล้วว่า กำลังถูกเดินเกมล้มรัฐบาล และพรรคเล็กเทไปทางผู้กองธรรมนัสหมด โดยมีเป้าหมายจับมือกับเพื่อไทยตั้งรัฐบาลชุดใหม่
ขณะที่เป้าหมายของกลุ่มผู้ก่อการครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เก้าอี้ "รัฐมนตรีว่าการ" ในยุทธการเขย่าต้นมะม่วงเดิมอีกแล้ว แต่มองไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รหัส "มท.1" เลยทีเดียว
ทางออกของนายกฯจึงตีบตัน เพราะหากจะยกเก้าอี้ รมว.มหาดไทยให้ ก็ต้องอัญเชิญ "พี่เลิฟ" อย่าง "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ออกไป ซึ่งน่าจะเป็นไปไม่ได้ และหากยอมกันถึงขนาดนี้ ก็จะเท่ากับหมดลาย ไม่สมควรที่จะเป็นผู้นำรัฐบาลต่อไป ทางออกของ นายกฯลุงตู่ นาทีนี้เหลือเพียง 3 ทาง คือ
1.ชิงลาออกก่อนโหวต เพราะถ้าโหวตไปก็แพ้แน่ แล้วทำหน้าที่รัฐบาลรักษาการ ดึงเกมต่อไป เนื่องจากการเลือกนายกฯใหม่ไม่ง่าย เนื่องจากตัวบุคคลที่เหลือเป็น "แคนดิเดต" ไม่ได้รับการยอมรับจากสภา ได้แก่ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นายชัยเกษม นิติสิริ จากพรรคเพื่อไทย โดยมีเพียงนายชัยเกษมคนเดียวที่ยังอยู่กับพรรค
นอกจากนั้นก็มี นายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย นั่งรองนายกฯ และรมว.สาธารณสุข อยู่ในปัจจุบัน และสุดท้าย คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไปแล้ว
ขณะเดียวกัน การซาวเสียงเลือกนายกฯใหม่ ยังต้องใช้เสียง ส.ว.ร่วมโหวต เพราะเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภา อยู่ที่ 367 เสียงขึ้นไป หากรัฐบาลใหม่ไม่มีพรรคภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์เข้าร่วม ก็ยากที่จะมีเสถียรภาพ และจะเกิดปัญหาไม่ต่างจากรัฐบาลบิ๊กตู่ขณะนี้
2.ลุ้นโหวตแล้วพลิกมาชนะ โดยช่วง 2-3 วันที่เหลือนี้ ต้องล็อบบี้ ดึงพรรคเล็กกลับมาสนับสนุนให้หมด เพื่อให้โหวตผ่านความไว้วางใจไปก่อน จากนั้นค่อยตัดสินใจทางการเมืองอีกที ว่าจะ "ยุบสภาดัดหลัง" หรือจะ "ปรับครม.ใหญ่" แจกเก้าอี้พรรคเล็ก ลอยแพกลุ่ม "4ช." แล้วรอยุบสภา
3.ลุ้นโหวต แต่แพ้ ผลก็จะไม่ต่างจากข้อ 1 ที่สำคัญคือถ้าโหวตแพ้คาสภา จะเป็นนายกฯคนแรกตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมา ที่ต้องหลุดจากเก้าอี้ด้วยเหตุ "โหวตแพ้"
สำหรับสถานะของของ ครม.ประยุทธ์ หลังจากโหวตแพ้ ก็จะกลายเป็นรัฐบาลรักษาการ เงื่อนแง่มีอยู่ 2 มุม คือ
1.ถ้าเป็นรัฐบาลรักษาการ เพราะลาออก หรือโหวตแพ้ ก็จะยุบสภาไม่ได้ ก็ต้องรักษาการไป เพื่อรอเลือกนายกฯใหม่ ซึ่งอาจต้องรักษาการค่อนข้างนาน เนื่องจากกระบวนการเลือกนายกฯใหม่ไม่ง่าย หากเลือกนายกฯในบัญชีพรรคการเมือง ซึ่งแคนดิเดตที่เหลือ 5 คน ไม่ได้ ก็ต้องขออนุมัติรัฐสภา ด้วยเสียง 2 ใน 3 หรือ เกือบๆ 500 เสียง
2.ถ้าเป็นรัฐบาลรักษาการเพราะชนะโหวต แล้วยุบสภา แบบนี้จะมีภาษีดีกว่า และอาจจะดึงเวลาเลือกตั้ง โดยอ้างการแพร่ระบาดของโควิดได้ ทำให้เป็นรัฐบาลรักษาการได้นาน
การซาวเสียงเลือกนายกฯใหม่ รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามเสนอชื่อนายกฯ คนที่แพ้โหวต ให้กลับมาทำหน้าที่อีก แต่ในทางการเมืองถือว่าไม่ชอบธรรม และน่าจะโดนต้านจากม็อบนอกสภาฯ