svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

เด็กจีนเฮ! รัฐบาลประกาศแบนการสอบ-ลดการบ้าน

31 สิงหาคม 2564
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จีนประกาศห้ามจัดสอบข้อเขียนกับเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 รวมถึงลดปริมาณการบ้าน เพื่อลดภาระให้กับนักเรียน

จีนประกาศห้ามสอบข้อเขียนเด็กอายุ 6-7 ขวบ เพื่อบรรเทาภาระเกิดขึ้นกับตัวเด็กและผู้ปกครอง ถือเป็นความพยายามครั้งล่าสุดในการบรรเทาแรงกดดันต่อตัวผู้เรียน ภายใต้อัตราการแข่งขันที่สูงมากจากระบบการศึกษาเอง


ที่ผ่านมานักเรียนจีนล้วนถูกบังคับให้รับการสอบ ตั้งแต่ชั้นประถมปีแรกไปจนถึงการสอบเข้ามหาลัยในช่วงอายุ 18 แต่ในที่สุดกระทรวงศึกษาจีนก็ออกมาประกาศว่าแรงกดดันที่เกิดขึ้น “ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ” ของเด็กมากเกินไปจนต้องมีการแก้ไข


ในแถลงการณ์กล่าวว่า “การวัดระดับในสถานศึกษาคือสิ่งจำเป็น แต่โรงเรียนบางแห่งมีการจัดสอบมากเกินไป กลายเป็นผลเสียกับเด็กในระยะยาว ซึ่งเป็นเรื่องต้องถูกแก้ไขให้ถูกต้อง” นำมาสู่กฎเกณฑ์ด้านจำนวนในการจัดสอบและวัดระดับแต่ละเทอมอีกด้วย


กฎเกณฑ์ใหม่ระบุว่าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 2 ไม่จำเป็นต้องได้รับการสอบแบบเขียนใส่กระดาษ ส่วนชั้นอื่นนอกเหนือจากนั้นสามารถจัดสอบได้ในทุกภาคการศึกษา การสอบกลางภาคถูกอนุญาตให้จัดได้สำหรับชั้นมัธยมต้นขึ้นไป ไม่อนุญาตให้ท้องถิ่นจัดการสอบระดับภูมิภาค รวมทั้งไม่ให้สั่งการบ้านให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาที่ 1 ในปีนี้ และให้สั่งการบ้านสำหรับนักเรียนมัธยมต้นที่สามารถทำเสร็จได้ในเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งอีกด้วย

 

ประกาศดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษาของจีน นั่นทำให้เกิดการแตกฮือของเสียงสะท้อนบนโซเชี่ยลมีเดียจีนอย่าง เว่ยป๋อ บางส่วนเห็นด้วยกับประกาศในครั้งนี้ เพราะรู้สึกว่าการสอบเป็นภาระเด็กมากเกินไป แต่ย่อมตามมาด้วยคำถามว่าเมื่อไม่มีการจัดสอบจะวัดระดับของผู้เรียนเช่นไรแต่ยังไม่มีคำตอบ


ในช่วงเดือนกรกฎาคม ปักกิ่งระงับการสอนออนไลน์ของบริษัทกวดวิชาภายในประเทศ ภายหลังจากทำรายได้มหาศาลด้วยการสอนในรูปแบบออนไลน์ ระเบียบใหม่นี้ยังจำกัดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมกวดวิชา และขัดขวางธุรกิจกวดวิชาภายในประเทศ ซึ่งเคยสร้างมูลค่าได้มากกว่า 1.2 แสนล้านดอลลาร์ หรือกว่า 3.8 ล้านล้านบาท


การเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกมองว่าเป็นความพยายามบรรเทาภาระทางการเงินจากการเลี้ยงดูบุตร และปัญหาอัตราการเกิดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในประเทศ ภายหลังประกาศสอดรับกับนโยบายอนุญาตให้มีลูกหลายคน ทางการจีนจึงหันมาเอาใจใส่ระบบการศึกษาของเด็กมากขึ้น

 

รวมทั้งปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาก็เช่นกัน กับความพยายามในการจ่ายเงินจำนวนมากของผู้ปกครอง เพื่อให้บุตรหลานได้เข้าโรงเรียนชั้นนำ ถึงขนาดส่งผลต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ จากการที่ผู้ปกครองหันมาหาซื้อจนถึงแย่งชิงบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ในแถบบริเวณโรงเรียนเลยทีเดียว

 

ที่มา: ฺฺBBC

logoline