วาระอภิปรายไม่ไว้วางใจถือเป็นโอกาสสำคัญที่พรรดฝ่ายค้าน จะดิสเครดิตรัฐบาล และทำคะแนนสะสมไว้สำหรับการเลือกตั้ง แต่บางครั้ง ถูกมองว่า ทั้งสองขั้วใช้เวทีซักฟอกต่อรองผลประโยชน์ มากกว่าหวังผลการเมือง
“ขั้วรัฐบาล” ถูกครหาว่าพยายามล็อบบี้โหวต “ฝ่ายค้าน” ถูกแซะหนักถึงการเกี๊ยะเซี๊ยะ ขั้วรัฐบาล จนวาระซักฟอกเสมือนขุมทรัพย์ ของนักเลือกตั้งเป็นนาทีทองที่โกยได้ต้องโกย จนที่สุดกลายเป็นประเด็นไม่ไว้วางใจระหว่าง “ฝ่ายค้าน” ด้วยกันเอง จนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์งดส่งข้อมูลให้วอร์รูมซักฟอก เพื่อตัดปัญหาถูกตลบหลัง รวมทั้งการนำข้อสอบไปเก็งราคาในตลาดมืด
เมื่อเนื้อหาถล่มรัฐบาล ไม่เด็ด ไม่โดน และล้มนายกฯ ประยุทธ์ ไม่ได้ ความสนใจจึงเทไปที่เสียงโหวต “ไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ” รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล
ตามธรรมเนียมแล้ว พรรคฝ่ายค้านที่ยื่นญัตติจะโหวตไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายโดยมีแค่บางคนที่แหกมติ ซึ่งเป็นที่รู้กันอย่างเปิดเผยว่าเป็น "งูเห่า" ที่พรรคร่วมรัฐบาลฝากเลี้ยงไว้ โฟกัสหลักของศึกซักฟอกเวลานี้ จึงไม่ใช่ผลงานฝ่ายค้าน แต่สปอตไลท์การเมืองกำลังฉายมายังขั้ว “พรรคร่วมรัฐบาล” โดยเฉพาะความพยายามกดดันพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ปรับคณะรัฐมนตรี โดยรอจังหวะหลังจากการอภิปรายฯ ครั้งนี้ เพราะมีนักการเมืองที่รอเสียบเก้าอี้ที่จะว่างลง และคนที่หวังได้เลื่อนชั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการ อาศัยสถานการณ์เพื่อเลื่อยขาเก้าอี้กันเอง
ทีมข่าว ”กรุงเทพธุรกิจ" ตรวจสอบแนวทางการโหวตของแต่ละพรรคการเมืองเพื่อฉายภาพการแง่มุมการเมืองในศึกซักฟอก ก่อนต่อยอดไปสู่การปรับ ครม. ดังนี้ พรรคพลังประชารัฐ 118 เสียง มีแนวทางโหวต
1.ยึดมติวิปรัฐบาล โหวตให้รัฐมนตรีทุกคนเท่ากันหมด
2.ส.ส. กลุ่ม"ผู้กองมนัส" ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรค พปชร.วางเกมหักดิบ "สุชาติ ชมกลิ่น" รมว.แรงาน ให้ได้คะแนนบ๊วยเปิดทางบีบปรับครม.
3.กลุ่มดาวฤกษ์ ไม่ไว้วางใจหรืองดออกเสียงให้ "อนุทิน-ศักดิ์สยาม" แกนนำพรรคภูมิใจไทย
แนวทางการโหวตของ ส.ส.พปชร.ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านๆ มา ส่วนใหญ่ “ไม่แตกแถว” ยึดมติวิปรัฐบาลโหวตให้ทุกคนอย่างพร้อมเพรียง
แม้ศึกซักฟอกครั้งที่ผ่านมาต้นปี 2564 กลุ่มส.ส.ดาวฤกษ์ จะแหกมติงดออกเสียงกรณี "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" รมว.คมนาคม เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย ปมที่ดินเขากระโดง จนเป็นปัญหาระหว่างพรรคร่วม
สิ่งที่น่าจับตาครั้งนี้สถานการณ์กำลังเปลี่ยนเมื่อกลุ่ม "ผู้กองมนัส" สามารถกำหนดทิศทางการลงมติได้ เพราะคุมเสียงได้ทั้งในพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเล็ก จึงน่าจับตาว่า จะเลือกเปิดเกมให้ ส.ส.ในสังกัดโหวตสวนรัฐมนตรีจากพรรคเดียวกันเองหรือไม่ โดยเฉพาะ "สุชาติ" รมว.แรงงาน ที่ถือเป็นคู่ขัดแยังโดยตรงกับกลุ่มของ "ผู้กองมนัส" และ วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล หรือไม่
หากเลือกเกมหัก "สุชาติ" ก็อาจถูกมาตรการของพรรคลงโทษ แต่ประเด็นนี้ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ของ ธรรมนัส ว่ากันว่า อาจทำให้เห็นเป็นพิธีเท่านั้น เพราะชั่วโมงนี้เป็นที่รู้กันดีในพลังประชารัฐว่า ใครมีอำนาจตัวจริง
ทิศทางการโหวตของพลังประชารัฐ ส่วนใหญ่จะโหวตไปในทิศทางเดียวกัน จะมีกรณีที่ต้องวัดใจกันมากเป็นพิเศษ ก็คือกลุ่มดาวฤกษ์ กับ รัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทยที่เป็นจำเลยสังคมจากกรณีการบริหารจัดการโควิด วัคซีน และพฤติกรรมส่วนตัวของคนระดับรัฐมนตรี กับอีกกรณีคือคนในพรรคเดียวกันโดยเฉพาะก๊วนของ "ผู้กองมนัส" มีโอกาสจะโหวตไม่ไว้วางใจ "สุชาติ" แม้จะเพียงไม่กี่เสียง แต่ก็ส่งผลอย่างใหญ่หลวง ถ้าคะแนนไว้วางใจมาเป็นลำดับสุดท้าย และจะส่งผลต่อเสถียรภาพในตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างปฏิเสธไม่ได้
ภูมิใจไทย 61 เสียง แนวทางการโหวตค่อนข้างเป็นเอกภาพโดยจะโหวตให้รัฐมนตรีพรรคร่วมรัฐบาลทุกคน เพื่อรักษาเสถียรภาพของรัฐบาล
แต่ปัญหาติดอยู่ที่ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ ที่อาจจะไม่โหวตให้ "อนุทิน ชาญวีรกุล" รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยเนื่องจากการแก้ไขสถานการณ์โควิดผิดพลาดประเด็นที่ ส.ส.เขต ประชาธิปัตย์ คิดหนักหากโหวตผ่านให้ เกรงจะส่งผลต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ดังนั้น จึงต้องลุ้นกันว่า "จรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์" รองนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จะแก้ปัญหาลูกพรรคได้หรือไม่
ประชาธิปัตย์ 48 เสียง พร้อมเทคะแนนให้รัฐมนตรีพรรคร่วมทุกคน แต่ก็อาจมี10 กว่าเสียง ที่ไม่โหวตไว้วางใจ "อนุทิน" ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะส่งผลให้พรรคภูมิใจไทย อาจโหวตสวนไม่ไว้วางใจ "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" รมว.เกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน
ดังนั้น "จุรินทร์-เฉลิมชัย" จึงต้องเดินสายเคลียร์กับ ส.ส.ปชป. ที่มีแนวคิดไม่โหวตให้ "อนุทิน" เป็นการด่วน เพื่อรักษาเสถียรภาพรัฐบาล และรักษาเอกภาพ
ส่วนการโหวตส่วนขาประจำ อาทิ "พนิต วิกิตเศรษฐ์"ส.ส.บัญชีรายชื่อ "อภิชัย เตชะอุบล" ส.ส.บัญชีรายชื่อ "อันวาร์ สาและ" ส.ส.ปัตตานี เตรียมโหวตสวนมติวิปรัฐบาลเช่นเดิม ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลรับรู้ปัญหาดี จึงไม่ถือโทษโกรธเคือง
สำหรับ พรรคชาติไทยพัฒนา 12 เสียง พรรครวมพลังประชาชาติไทย 5 เสียง พรรคพลังท้องถิ่นไท 5 เสียง พรรคเศรษฐกิจใหม่ 5 เสียง พรรชาติพัฒนา 4 เสียง พร้อมโหวตตามมติพรรคร่วมรัฐบาล ไม่มีแตกแถว พรรคเล็ก 11 พรรค รวม 12 เสียง อยู่ภายใต้ความดูแลของ "ร.อ.ธรรมนัส" หากสั่งกดปุ่มให้เลือกในทิศทางใด พร้อมเทเสียงตามใบสั่ง
โดยให้จับตาการโหวต "สุชาติ ชมกลิ่น" มากเป็นพิเศษ