เจ้าหน้าที่รัฐวอชิงตัน ของสหรัฐเปิดเผยเมื่อวันพฤหัสบดี ( 26 ส.ค. ) ว่าได้ทำลายรัง " แตนมรณะ " หรือ " แตนยักษ์เอเชีย " รังแรกของปี ซึ่งพบอยู่ใกล้ ๆ กับเมือง " เบลน " แถว ๆ ชายแดนติดกับแคนาดา
กระทรวงเกษตรของรัฐวอชิงตันเปิดเผยว่าพวกมันถูกกำจัดไปเมื่อวันพุธ
รังแตน ถูกพบอยู่ที่โคนของต้นออลเดอร์ที่ตายแล้วในเขตวอตคอม ซึ่งเป็นพื้นที่ชนบท ห่างจากรังที่ทางเจ้าหน้าที่เคยกำจัดรังแตนทิ้งไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วประมาณ 3 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากจุดที่ชาวบ้านคนหนึ่งรายงานว่าพบเห็นแตน
ยักษ์เอเชียตัวเป็น ๆ เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ประมาณ 400 เมตร
รังแตนนี้อยู่ห่างจากชายแดนแคนาดาประมาณ 400 เมตรเช่นเดียวกัน
แตนยักษ์เอเชีย ซึ่งบางครั้งเรียกว่า แตนมรณะ ก็เพราะพวกมันกินแมลง และแมลงประเภทผึ้งตัวอื่น ๆ
แตนยักษ์เอเชียเป็นแตนที่ใหญ่ที่สุดในโลก พวกมันมีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เอเชียตะวันออก สามารถพบได้ในภูมิประเทศเขตร้อนทั่วโลก แต่พบมากสุดที่อินเดียและเนปาล
พวกมันสามารถโจมตีรังผึ้งขนาดใหญ่ และทำลายได้ทั้งรังในเวลาไม่กี่ชั่วโมง จึงถือเป็นอันตรายต่อวงการเกษตรกรรม และธรรมชาติ เนื่องจากพวกผึ้งช่วยเหลือในการผสมเกสรดอกไม้
แตน 1 ตัว สามารถบุกทลายรังผึ้งใหญ่ ๆ ได้สบาย ๆ มันจะใช้ปากที่มีเขี้ยวคมกัดหัวผึ้ง โดยจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 90 นาทีในการพิชิตรังผึ้ง จากนั้นจะเข้ายึดรังเพื่อกินซากผึ้งที่ตาย รวมถึงตัวอ่อนและไข่ และขนอาหารกลับไปเลี้ยงนางพญาและตัวอ่อนที่รังตัวเอง
แตนพวกนี้ถูกพบครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาในปี 2562 เมื่อมีการรายงานว่าพบแตนในเขตวอตคอม
เจ้าแมลงต่างถิ่นที่ลำตัวยาว 2 นิ้ว ปีกกว้าง 7.5 เซนติเมตร และเหล็กในยาว 6 มิลลิเมตร เป็นภัยคุกคามต่อผึ้งและแตนสายพันธุ์พื้นเมือง ที่ไม่รู้วิธีที่จะจัดการกับผู้รุกรานเหมือนในบรรดาผึ้งในเอเชีย
แม้ว่ามันจะไม่ก้าวร้าวต่อมนุษย์เป็นพิเศษ แต่เหล็กไนของพวกมันก็สร้างความเจ็บปวดอย่างมาก เหล็กไนของมันสามารถต่อยได้ซ้ำ ๆ หลายครั้ง และสามารถฆ่าคนได้ แม้ว่าจะไม่ค่อยพบกรณีแบบนี้
ในการกำจัดแตนเมื่อวันพุธ เจ้าหน้าที่ต้องสวมชุดป้องกันอย่างเต็มที่ พวกเขาใช้เครื่องดูด ดูดเอาแตนแรงงาน 113 ตัวออกจากรัง ส่วนอีก 67 ตัวถูกจับได้ในที่อื่น
จากนั้น เจ้าหน้าที่ก็เริ่มแกะเปลือกไม้และไม้ผุ ๆ ใกล้โคนต้นออลเดอร์ออกมา
การนำไม้ออกมาเผยให้เห็นว่าแตนได้ขุดภายในต้นไม้เพื่อให้มีที่ว่างสำหรับรังซึ่งประกอบด้วยรวง 9 ชั้น
ในรังแตน มีแตนเกือบ 1,500 ตัว ซึ่งอยู่ในระยะต่าง ๆ ของการพัฒนา
ส่วนของต้นไม้ พร้อมด้วยรังแตน ถูกตัดออกมา และส่งไปยังมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน วิทยาเขตเบลลิงแฮมเพื่อทำการวิเคราะห์เพิ่มเติม พร้อมกับแตนบางตัวที่จับได้ ส่วนที่เหลือจะถูกนำไปกำจัด
เจ้าหน้าที่จะติดตามไล่ล่าแตนพวกนี้ต่อไปจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน
เมื่อจับแตนได้ พวกมันจะถูกติดเครื่องส่งสัญญาณวิทยุ แล้วปล่อยไป โดยหวังว่ามันจะนำเจ้าหน้าที่กลับไปยังรังของมัน
เมื่อพบรังของพวกมันอยู่ในต้นไม้ด้วยความช่วยเหลือของอุปกรณ์ตรวจจับความร้อน เจ้าหน้าที่จะใช้พลาสติกพันรอบต้นไม้ แล้วใช้เครื่องดูด เพื่อดูดเอาตัวของพวกมันออกมาจนหมด