svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

แบงก์ชาติปรับเกณฑ์อุ้มลูกหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอี

ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ได้อย่างยั่งยืน ช่วยประคองลูกหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอี

21 สิงหาคม 2564 นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโคโรนา 19 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรงขึ้น การฟื้นตัวจะช้าออกไปและไม่เท่าเทียมกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคบริการและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบหนัก รายได้และการจ้างงานที่ลดลงส่งผลซ้ำเติมฐานะการเงินที่เปราะบางของธุรกิจและครัวเรือน ดังนั้น เพื่อให้มาตรการทางการเงินช่วยบรรเทาผลกระทบได้มากขึ้นในระหว่างที่ต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 จึงมีมติอนุมัติมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ดังนี้ 

1.การรักษาสภาพคล่องและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SMEs และรายย่อย เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจและเพียงพอต่อการดำรงชีวิต 

(1) ปรับปรุงหลักเกณฑ์สินเชื่อฟื้นฟูสำหรับลูกหนี้ SMEs ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ธปท. อนุมัติสินเชื่อฟื้นฟูไปแล้ว รวมทั้งสิ้น 92,316 ล้านบาท และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายร่วมระหว่าง ธปท. กับสถาบันการเงินที่ 1 แสนล้านบาทได้ก่อนเดือน ตุลาคม 2564 โดยสินเชื่อกระจายตัวได้ดีและครอบคลุมลูกหนี้จำนวน 30,194 ราย เฉลี่ยรายละ 3.1 ล้านบาท ซึ่งเป็นลูกหนี้ธุรกิจขนาดเล็ก (ร้อยละ 42.6) ประกอบธุรกิจการพาณิชย์และบริการ (ร้อยละ 67.5) และเป็นลูกหนี้ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด นอกเขตกรุงเทพและปริมณฑล (ร้อยละ 68.5) อย่างไรก็ดี ธปท. ประเมินว่าภาคธุรกิจยังมีความต้องการสินเชื่อฟื้นฟูเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า 
   

ที่ผ่านมา ธปท. ได้หารือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบธุรกิจผ่านสมาคมต่าง ๆ เช่น หอการค้าไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรค และข้อจำกัดต่าง ๆ ของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และเห็นควรให้ขยายวงเงินสินเชื่อ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีวงเงินสินเชื่อเดิมต่ำหรือไม่เคยมีวงเงินมาก่อน ที่เดิมอาจไม่ต้องพึ่งพาสินเชื่อจากสถาบันการเงิน รวมถึงเพิ่มการค้ำประกันให้กับลูกหนี้กลุ่มเสี่ยง เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้กลุ่มเป้าหมายที่เปราะบางได้มากขึ้น 
แบงก์ชาติปรับเกณฑ์อุ้มลูกหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอี

(2) ผ่อนปรนหลักเกณฑ์เกี่ยวกับสินเชื่อลูกหนี้รายย่อย ในส่วนของบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เพื่อบรรเทาภาระการจ่ายชำระหนี้ ตลอดจนเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้เป็นการชั่วคราว โดย (1) ขยายเพดานวงเงินสำหรับบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท (2) คงอัตราการผ่อนชำระขั้นต่ำบัตรเครดิตที่เคยผ่อนคลายไว้ก่อนหน้า และ (3) ขยายเพดานวงเงินและระยะเวลาชำระหนี้ของสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ทั้งนี้ การผ่อนปรนเกณฑ์ดังกล่าว จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่อในระบบและลดความจำเป็นของลูกหนี้ที่อาจถูกผลักไปใช้สินเชื่อนอกระบบในระยะต่อไป

แบงก์ชาติปรับเกณฑ์อุ้มลูกหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอี

2.การแก้ไขหนี้เดิมให้เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันและช่วยเหลือลูกหนี้ได้จริง ที่ผ่านมา สถานการณ์การระบาดมีความไม่แน่นอนสูง เดิมคาดว่าจะควบคุมได้และคลี่คลายในเวลาไม่นาน ทำให้เน้นการแก้ปัญหาแบบระยะสั้น เช่น การพักชำระหนี้เป็นครั้งคราว หรือปรับโครงสร้างหนี้แบบระยะสั้นเป็นหลัก แต่สถานการณ์มีแนวโน้มยืดเยื้อกว่าที่คาดมาก การแก้ปัญหาแบบเดิมจึงไม่ตอบโจทย์ และไม่ได้ทำให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้ได้พูดคุยเพื่อประเมินสถานการณ์ หรือหาทางแก้ไขที่จะช่วยให้ภาระของลูกหนี้ลดลงจริง  
    

ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ธปท. จึงส่งเสริมให้เกิดการแก้ไขหนี้เดิมอย่างยั่งยืน โดยเน้นให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แบบระยะยาว และคำนึงถึงหลักการดังต่อไปนี้ (1) มองสถานการณ์ระยะยาว โดยกำหนดการจ่ายคืนหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ปัจจุบันที่ลดลงมากและทยอยจ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อรายได้กลับมา (2) สามารถช่วยลูกหนี้จำนวนมากได้เร็ว (3) ตรงจุดให้เหมาะกับ ปัญหาของลูกหนี้แต่ละรายที่มีปัญหาและการฟื้นตัวต่างกัน (4) เป็นธรรมกับทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้ เพื่อให้ทุกฝ่ายผ่านความยากลำบากไปด้วยกัน นอกจากนี้ ต้องไม่สร้างแรงจูงใจที่ไม่เหมาะสม (moral hazard) ให้กับลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้ความช่วยเหลือไปสู่กลุ่มลูกหนี้ที่เป็นเป้าหมายที่แท้จริงอย่างได้ผล และรักษาสมดุลและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินโดยรวม 

เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์การส่งผ่านความช่วยเหลือเพิ่มเติมให้แก่ลูกหนี้ในภาวะวิกฤต ธปท. จึงได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ดังนี้  
  แบงก์ชาติปรับเกณฑ์อุ้มลูกหนี้รายย่อย-เอสเอ็มอี
    
2.1  สถาบันการเงินสามารถคงการจัดชั้นสำหรับลูกหนี้รายย่อย และ SMEs (ตามนิยามของสถาบันการเงิน) ที่เข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้ว ได้จนถึง 31 มีนาคม 2565 เพื่อเอื้อให้สถาบันการเงินและลูกหนี้มีเวลาเพียงพอในการพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิผลในระยะยาว


2.2  การใช้หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองอย่างยืดหยุ่นไปจนถึงสิ้นปี 2566 เพื่อลดภาระต้นทุนสำหรับสถาบันการเงินที่ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างยั่งยืน ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยวิธีที่นอกเหนือไปจากการขยายเวลาการชำระหนี้เพียงอย่างเดียว เช่น การเปลี่ยนโครงสร้างสินเชื่อจากระยะสั้นเป็นระยะยาวร่วมกับการปรับโครงสร้างหนี้วิธีอื่น ๆ การปรับโครงสร้างหนี้ที่มีการให้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ รวมถึงการลดภาระการผ่อนชำระให้ลูกหนี้ ซึ่งจะช่วยจูงใจให้เกิดการส่งผ่านความช่วยเหลือไปยังลูกหนี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ
    

2.3  การขยายระยะเวลาปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุน FIDF เหลือร้อยละ 0.23 จากร้อยละ 0.46 ต่อปี ที่จะสิ้นสุดสิ้นปี 2564 นี้ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถส่งผ่านต้นทุนที่ลดลงไปในการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนได้อย่างต่อเนื่องภายใต้สถานการณ์ COVID-19 ที่ยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง


การขับเคลื่อนให้มาตรการสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบได้จริงและรวดเร็วทันสถานการณ์เป็นหัวใจสำคัญ ที่ผ่านมา ธปท. ได้หารือกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องเพื่อรับทราบอุปสรรค ข้อจำกัด และข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากลูกหนี้ทั้งรายย่อยและธุรกิจ รวมถึงสถาบันการเงินที่เป็นกลไกหลัก และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อปรับปรุงมาตรการให้ตอบโจทย์และตรงจุดยิ่งขึ้น ซึ่ง ธปท. จะยังติดตามและวิเคราะห์แนวทางต่าง ๆ ในการให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะทางเลือกในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่สถาบันการเงินแต่ละแห่งจะจัดทำขึ้นเพื่อรองรับลูกหนี้แต่ละกลุ่ม (product program) รวมทั้งเร่งผลักดันให้สถาบันการเงินมีแนวทางดูแลลูกหนี้ที่ชัดเจนและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศในภาพรวม