ล้านแตกหลัดๆ เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา สำหรับยอดผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ปัจจุบันได้แตกหน่อเป็นตัวกลายพันธุ์ต่างๆ จนกลายเป็นปัญหาต่อวัคซีนในปัจจุบัน
โดยวันนี้ (20 ส.ค.) ศบค.รายงานว่า มีผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมอีก 19,851 ราย ทำให้ยอดรวมผู้ติดเชื้อในไทย ตั้งแต่การระบาดระลอกที่ 1 เพิ่มเป็น 1,009,710 คน แต่หากนับเฉพาะระลอกล่าสุด ยอดสะสมอยู่ที่ 980,847 คน
ส่วนยอดตายที่เพิ่มขึ้นอีก 240 ศพ ทำให้ยอดสะสมตั้งแต่ปีที่แล้ว ขยับเข้าใกล้เลขหลักหมื่นเข้าไปอีกก้าว ตอนนี้อยู่ที่ 8,826 ศพ ถ้านับเฉพาะระลอกล่าสุดอยู่ที่ 8,732 ศพ
ทั้งนี้หากย้อนดูตั้งแต่การระบาดระลอกแรก จะเห็นวิวัฒนาการต่างๆ ของมาตรการรัฐว่าเอาอยู่จริงหรือไม่?
สำหรับไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายแรก เมื่อวันที่ 13 ม.ค.2563 ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน แต่ใครจะคิดว่า ผ่านไปเพียง 2 สัปดาห์ จะพบคนไทยติดโควิดรายแรก เป็นชายอายุ 50 ปี ทำอาชีพคนรถแท็กซี่ ที่ติดเชื้อระหว่างพานักท่องเที่ยวจากเมืองอู่ฮั่น ส่งโรงพยาบาล เพราะมีอาการป่วย
แต่ที่สร้างความตื่นตระหนก และทำให้รู้จักคำว่า “คลัสเตอร์” เป็นครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 มี.ค.2563 หลังจากพบกลุ่มผู้ติดเชื้อมาจากสนามมวยลุมพินี ทำให้ไวรัสลุกลามไปทั่วประเทศ และไม่ทันไร วันที่ 3 เม.ย.2563 เกิดคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ-เอกมัย ตามมาอีก จนต้องมีการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบทั่วประเทศ
ซึ่งการระบาดระลอกแรก กินเวลายาวนานกว่า 11 เดือนครึ่ง และสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2563 ครั้งนั้นมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,237 คน และเสียชีวิต 60 คน
จากนั้นวันที่ 15 ธ.ค.2563 เกิดการระบาดระลอกที่ 2 จากคลัสเตอร์แพกุ้ง จ.สมุทรสาคร เมื่อแม่ค้าขายที่ตลาดกลางมหาชัย ตรวจพบเชื้อโควิด ทั้งที่ไม่มีประวัติเดินทางออกนอกประเทศ ก่อนสืบสวนโรคจนพบต้นตอว่า ติดมาจากกลุ่มแรงงานชาวเมียนมา
ครั้งนั้นมีเชื้อแพร่กระจายไปทั่วกรุงเทพ นครปฐม และสมุทรปราการ ไม่เว้นแม้กระทั่งนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ก็ติดเชื้อเช่นกัน จนต้องรักษาตัวอยู่เป็นเวลานาน
ซึ่งการระบาดระลอก 2 กินเวลานานกว่า 3 เดือนครึ่ง และสิ้นสุดลงวันที่ 31 มี.ค.2564 โดยมีผู้ติดเชื้อสะสม 24,626 ราย และเสียชีวิต 34 ราย
จนมาระลอก 3 ในปัจจุบัน เริ่มจากวันที่ 1 เม.ย.2564 เกิดคลัสเตอร์เดิมๆ จากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ ที่มาพร้อมกับสายพันธุ์ “อัลฟา” (สายพันธุ์อังกฤษ) ที่แพร่กระจายได้เร็วขึ้น และคล้อยหลังไม่ถึงเดือน เมื่อวันที่ 27 เม.ย.2564 เกิดคลัสเตอร์คลองเตยซ้ำอีก
จากนั้นการระบาดเริ่มลุกลามไปทุกวงการ โดยเฉพาะตามไซต์งานก่อสร้างต่างๆ ที่มีการเคลื่อนย้ายตลอดเวลา ทำให้เกิดการกระจายตัวของเชื้อ โดยเฉพาะช่วงเดือน พ.ค.2564 มีการพบสายพันธุ์ “เดลตา” (สายพันธุ์อินเดีย) จากคลัสเตอร์แคมป์คนงานหลักสี่ ที่เป็นจุดเริ่มต้นการแพร่ระบาดในปัจจุบัน
โดยช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามใช้คำสั่งที่มีฉาบหน้าเหมือนเป็น “ยาแรง” ด้วยการประกาศล็อกดาวน์ และเคอร์ฟิว ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งหากดูผ่านๆ เหมือนจะเป็นคำสั่งชุดเดียวกับเดือน เม.ย.2563 แต่เนื้อในกลับเป็นล็อกดาวน์แบบ “ลังเล” สุดท้ายก็เอาไม่อยู่ ตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตทำนิวไฮไม่เว้นวัน
ซึ่งตอนนี้ เมื่อตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อทะลุหลักล้านแล้ว ทำให้ค่าเฉลี่ยผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 1,500 คน ต่อประชากร 1 แสนคน โดยมากกว่า 95-97% ของผู้ติดเชื้อรวม เป็นผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นในระลอกล่าสุด
สวนทางกับแนวทางหลักของกระทรวงสาธารณสุข อย่างการระดมฉีดวัคซีน ที่ดีเดย์ฉีดเข็มแรกตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 แต่ผ่านมานานเกือบ 6 เดือน กลับไม่เป็นไปตามเป้า โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมาย อย่างกลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง ยังได้รับการฉีดไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร เพราะเกิดปัญหาเรื่องการจัดสรร ที่บางจังหวัดนำไปฉีดให้ประชาชนทั่วไปก่อน ไม่นับปมคาใจเรื่อง “วีวีไอพี” หรือ “อมวัคซีน” ที่โผล่ขึ้นมาเป็นดอกเห็ด
ส่วนมาตรการต่างๆ ที่รัฐพยายามออกหมัดมาตลอด อย่างชุดตรวจหาเชื้อด้วยตัวเอง หรือชุดตรวจแอนติเจน (ATK) ที่เหมือนจะมาช้าเกินกาล เพราะช่วงแรกมีการกำหนดให้ตรวจหาเชื้อด้วยวิธีมาตรฐาน RT-PCR ที่โรงพยาบาล หรือจุดที่กำหนดเท่านั้น ทำให้เกิดปัญหาเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ หรือปัญหาครองเตียงสะสมมาเรื่อยๆ
ไม่นับที่ผู้ติดเชื้อบางคน เข้าไม่ถึงการตรวจ ทำให้ปรากฎภาพผู้ป่วยยกทั้งครอบครัว นอนรอความช่วยเหลือตามบ้านพัก หรือริมถนน และบางรายต้องสูญเสียชีวิต เช่นเดียวกับแนวทางกักตัว หรือรักษาที่บ้าน สำหรับผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ที่เพิ่งจะเห็นเป็นรูปธรรม
โดยสารพัดปัญหาที่เกิดขึ้นมาทั้งหมด เป็นบทเรียนราคาแพง ที่รัฐบาลต้องรีบแก้ไขว่า จะเอายังไงต่อ เมื่อตัวเลขแตะหลักล้านแล้ว!!
ซึ่งเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ยอมรับว่า รู้สึกเจ็บปวดกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเชื่อว่า หากควบคุมการล็อกดาวน์ได้ดีขึ้นกว่านี้ ประเทศไทยจะผ่านจุดสูงสุดของยอดการติดเชื้อ ภายในสิ้นเดือน ส.ค.
“หากยังคุมอยู่ ยอดติดเชื้อจะลดลงอย่างต่อเนื่องในเดือน ก.ย.ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการปรับมาตรการ และผ่อนคลายกิจการต่างๆ”
แต่โลกความเป็นจริง จะเป็นอย่างที่นายกฯ คาดคะเนหรือไม่ ต้องคอยติดตามอย่างใกล้ชิด...??