27 กรกฎาคม 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข ทางด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวถึงเรื่องของสถานการณ์เตียงที่รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ใจความตอนหนึ่งท่านได้ระบุว่า "ตอนนี้ สถิติการระบาดใน กทม.และปริมณฑล มันเกินกำลังที่ระบบของสาธารณสุข หรือเตียงจะรองรับได้อย่างน้อย 3 เท่าแล้ว แต่คุณหมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่สหวิชาชีพที่อยู่หน้างาน ยังยินดีทำงานเต็มที่ ยังยินดีที่จะดูแลพี่น้องประชาชนที่เจ็บป่วยทุกคน แต่ขอความเห็นใจอีกครั้งว่าล้นเตียงจริงๆ"
ในช่วงกรณี 2-3 วันที่ผ่านมา ที่มีข่าวว่าห้องฉุกเฉินบางโรงพยาบาลต้องปิด เพราะคนไข้ล้นออกไป เนื่องจากเตียงที่รองรับผู้ป่วยสีเหลือง สีแดง ตอนนี้รับผู้ป่วยข้างนอกไม่ได้ เพราะยังมีผู้ป่วยรออยู่ที่ห้องฉุกเฉิน เช่น กรณี รพ.ราชวิถี มีรออยู่อีก 10 กว่าเตียง ต้องรอให้เตียงว่างจึงจะรับผู้ป่วยจากห้องฉุกเฉินขึ้นไป
ขณะนี้ เตียงสีแดงและสีเหลืองทั้งรัฐและเอกชนตึงเต็มที่ จริงๆ ต้องเรียนว่าติดลบแล้ว หลายแห่งรับได้ 10 ใส่เข้าไป 12 ทั้งเหลืองและแดงของทั้งรัฐและเอกชนตึงครับ พอเราไปทำ Home Isolation ให้ผู้ป่วยที่อาการไม่หนักกักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้มีที่ว่างสำหรับเตียงสีเขียว
ในตอนนี้ เรากำลังรอเครื่องผลิตออกซิเจนของทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อไปทำ Hospitel ให้รองรับคนไข้ที่เป็นสีเหลืองและต้องการออกซิเจนให้นอนใน Hospitel ได้ ซึ่ง Hospitel ใน กทม.และปริมณฑลมี 20,000 กว่าห้อง ถ้าแปลงได้ 10% จะมีเตียงสีเหลืองเพิ่มvud 2,000 เตียง ก็จะสามารถรองรับผู้ป่วยได้จำนวนมากขึ้น แต่ตอนนี้ เรายังติดขัดในเรื่องเครื่องผลิตออกซิเจนและถังออกซิเจนมากอยู่พอสมควร ซึ่งก็จะทราบว่าขณะนี้ได้มีการลักลอบ นำออกไปชายแดนทางฝั่งเมียนมาด้วยอีกทาง
นพ.สมศักดิ์ ยังกล่าวถึง กรณีการตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen test kit (ATK) แล้วผลเป็นบวก ที่จากเดิมติดปัญหาต้องมีการตรวจด้วย RT-PCR ซ้ำนั้น จากนี้ผู้ที่ตรวจ ATK แล้วเป็นบวกจะเรียกว่า "ผู้ที่น่าจะติดเชื้อ" สามารถรับยาและเข้ารับการรักษาแบบ Home Isolation ได้ทันที โดยไม่ต้องรอผลการตรวจ RT-PCR (สวอบจมูก)
หากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาใน ศูนย์ดูแลผู้ป่วยโควิดในชุมชน Community Isolation หรือที่ในสถานพยาบาล "ผู้ที่น่าจะติดเชื้อ" ต้องเซ็นใบยินยอมเข้ารับการรักษา โดยจะให้มีการตรวจ RT-PCR โดยระหว่างนั้นต้องแยกโซนกับผู้ติดเชื้อ ที่ยืนยันแล้วใน Community Isolation
"หลักการคืออย่าให้ผลตรวจ RT-PCR เป็นอุปสรรคต่อการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย หรือเป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยวให้การรักษาพยาบาลล่าช้า"
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวทิ้งท้าย