วันนี้ (5 ก.ค.64) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รายงานข้อมูลจาก Fitch Ratings (Fitch) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่สะท้อนความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ได้รายงานการจัดอันดับเดือนมิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา โดยประเทศไทย ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือ (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook) สะท้อนภาพความเชื่อมั่นนักลงทุนทั่วโลก และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย
นอกจากนั้น Fitch ยังแสดงความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลไทยสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีกลยุทธ์การบริหารหนี้สาธารณะภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาล (General Government Debt) ต่อ GDP ของประเทศไทย ในปี 2565 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 52.7 ต่อ GDP จากการดำเนินนโยบายการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และการมีกฎหมายการกู้เงินเพิ่มเติม ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าค่ากลางของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับเดียวกันที่ร้อยละ 59.4
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2564 Fitch เชื่อมั่นว่า น่าจะเริ่มฟื้นตัวเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าและการเร่งรัดการเบิกจ่ายโครงการลงทุนของภาครัฐ อีกทั้งคาดว่า เศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2565 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.2 เนื่องจากการขยายตัวของอุปสงค์ภายนอกประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และการเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้ เมื่อสถานการณ์การระบาดคลี่คลาย เศรษฐกิจฟื้นตัวและรายได้ของรัฐบาลเพิ่มขึ้นจะทำให้รัฐบาลจัดทำงบประมาณขาดดุลลดลง
“รัฐบาลพึงพอใจกับการจัดอันดับ และเสนอมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาว และพยายามเร่งการฉีดวัคซีนให้ประชาชนอย่างกว้างขวางและครอบคลุม รวมถึงการเปิดจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดนำร่อง (Phuket Sandbox) ไปแล้ว เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว จากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลาง ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และจะเริ่มเปิดพื้นที่อื่นๆ ที่มีความพร้อมต่อไป เช่น เกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า ในกลางเดือนกรกฎาคมนี้ ตามนโยบายเปิดประเทศภายใน 120 วันของนายกรัฐมนตรี”