สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เผยแพร่ผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง "ประเมินองค์กรอิสระ รธน. 60" กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวน 1,293 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 18 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส.และรัฐมนตรีของ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แกนนำพรรคพลังประชารัฐ
ผลสำรวจพบว่า ในประเด็นความวางใจของประชาชนต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 60 ค่าความวางใจของประชาชนต่ำกว่าครึ่ง และองค์กรที่ต่ำที่สุดคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้ค่าความไว้วางใจเพียงร้อยละ 41.23 ตามด้วย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ได้ค่าความไว้วางใจร้อยละ 42.28 ตามด้วยศาลรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 43.47 และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. ได้ร้อยละ 48.62 ซึ่งความหมายว่าองค์กรอิสระเหล่านี้ได้รับความวางใจจากประชาชนต่ำกว่าครึ่ง หรือสอบตกนั่นอง
มีเพียงคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง. และผู้ตรวจการแผ่นดินเท่านั้นที่ได้รับความวางใจจากประชาชนเกินครึ่ง คือร้อยละ 54.01 และร้อยละ 55.65 จากคะแนนเต็ม 100 แต่ในภาพรวมขององค์กรอิสระทั้งหมด ก็ได้รับค่าความวางใจจากประชาชนร้อยละ 45.20 เท่านั้น
ประเด็นต่อมาคือ ผลประเมินด้านต่างๆ ขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ปี 60 พบว่า ได้รับผลการประเมินต่ำกว่าครึ่งทุกตัวชี้วัด ได้แก่
- การยึดหลัก นิติธรรม ได้ร้อยละ 46.48
- คุณสมบัติของผู้นำองค์กรอิสระที่ดี ได้ร้อยละ 45.91
- ยึดหลักจริยธรรม ได้ร้อยละ 43.33
- ความน่าเชื่อถือ ได้ร้อยละ 43.07
- ความโปร่งใส ได้ร้อยละ 39.64
- ความยึดโยงกับประชาชน ได้ร้อยละ 37.42
- ประชาชนได้ประโยชน์ ได้เพียงร้อยละ 35.31
- การตรวจสอบได้ ได้เพียงร้อยละ 35.27
- การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ได้ร้อยละ 33.81
- ด้านความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง ได้ต่ำสุดคือร้อยละ 33.16
ดอกเตอร์ นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลการศึกษาครั้งนี้มีข้อมูลทั้ง 2 รูปแบบ คือ ข้อมูลเชิงความรู้สึก หรือ sentiment ของประชาชน และข้อมูลผลการทดสอบทางสถิติวิจัย ทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญปี 60 กำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤตศรัทธาของประชาชนในทุกตัวชี้วัด ชี้ให้เห็นถึงวิกฤตศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญว่ามีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง