2 มกราคม 2564 ที่ห้องประชุมอาคารสิรินธรชั้น 2 สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและคณะทำงานได้เดินทางมาเยี่ยมชมการดำเนินงาน "โคราชจีโอพาร์ค" หรืออุทยานธรณีโคราช โดยมีนายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส เขต 2 จ.นครราชสีมา พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) ในฐานะ ส.ส เจ้าของเขตพื้นที่ พร้อมนายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ผศ.ดร.ประเทือง จินตกุล ผู้อำนวยการโคราชจีโอพาร์ค และ ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ นายอำเภอ 5 อำเภอและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในพื้นที่โครงการ "โคราชจีโอพาร์ค" ร่วมให้การต้อนรับ ซึ่งเป็นการบรรยายสรุปภาพรวมของการดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2537 เพื่ออนุรักษ์ฟอสซิลไม้กลายเป็นหินและฟอสซิลอื่นๆ ที่พบจำนวนมากในพื้นที่ จ.นครราชสีมา และภาคอีสาน โดยเปิดบริการนักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษามาเข้าชมแหล่งเรียนรู้ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบันมีจำนวนกว่า 2 ล้านคน
นายวิเชียร ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า "โคราชจีโอพาร์ค" ได้รับการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งผ่านเกณฑ์และได้รับการประเมินจัดตั้งเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศ แห่งที่ 2 ต่อจากอุทยานธรณีสตูลและปลายปี 2562 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบให้ "โคราชจีโอพาร์ค" ส่งเอกสารสมัครไปยูเนสโก เพื่อรับการตรวจประเมิน จีโอพาร์คโลก แต่ช่วงกลางปี 2563 ทั่วโลกประสบสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ยูเนสโกได้แจ้งเลื่อนการพิจารณาประเมินจีโอพาร์ค ซึ่งมี 16 ประเทศ ได้ส่งเอกสารรวม 20 แห่ง คาดหลังสิ้นเดือนมกราคมนี้ อาจมีการประชุมพิจารณาเรื่องการประเมินจีโอพาร์คอีกครั้ง
"โคราชจีโอพาร์ค" เป็นโครงการที่ได้ประกาศเป็นวาระสำคัญและอยู่ในแผนพัฒนา จ.นครราชสีมา ช่วง พ.ศ.2562-2566 เพื่อสนองตอบต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว แหล่งอนุรักษ์และแหล่งศึกษาเรียนรู้ทั้งทางด้านธรณีวิทยา ธรรมชาติและวัฒนธรรม จำนวน 39 แหล่ง ในพื้นที่ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมือง อ.เฉลิมระเกียรติ อ.ขามทะเลสอ อ.สูงเนิน และ อ.สีคิ้ว แต่ปีงบประมาณ 2563-64 "โคราชจีโอพาร์ค" ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณทั้งๆ ที่อยู่ในขั้นตอนสำคัญคือการเตรียมความพร้อมรับการประเมินจากยูเนสโกและต้องเร่งดำเนินการสร้างการรับรู้ในพื้นที่และการท่องเที่ยวผ่านสื่อประสัมพันธ์ เพื่อให้การดำเนินกิจกรรม "โคราชจีโอพาร์ค" มีความเคลื่อนไหวและเป็นที่รับรู้ของภาคประชาชนหรือมีส่วนร่วมของกรรมการสภาจีโอพาร์คโลกในการทำโครงการอนุรักษ์ฟอสซิลให้เป็นรูปธรรม
นายวราวุธ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า "โคราชจีโอพาร์ค" มีความอุดมสมบูรณ์ ความหลากหลายทั้งด้านชีวภาพและบรรพชีวินของลักษณะกายภาพของพื้นที่ แต่เป็นที่น่าเสียดาย ขณะนี้โลกอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การเดินทางมาตรวจประเมินของยูเนสโกมีอุปสรรค ลำบากพอสมควร แต่กระทรวงทรัพยากร ฯ จะสนับสนุนและผลักดันให้
"โคราชจีโอพาร์ค" ได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกจะทำให้ จ.นครราชสีมา ซึ่งมีมรดกโลก 2 แห่ง คือผืนป่าดงพญาเย็นและพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช อ.วังน้ำเขียว เป็น "UNESCO Triple Crown" หรือดินแดน 3 มงกุฎยูเนสโก เป็นประเทศที่ 4 ของโลกจากอิตาลี เกาหลีใต้และจีน ซึ่งเป็นความภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศและสามารถเพิ่มมูลค่าจากธุรกิจท่องเที่ยว เราเข้าใจดีในเรื่องงบประมาณภายใต้สถานการณ์โควิด มีข้อจำกัดมากพอสมควร กระทรวงทรัพยากร ฯ จะช่วยหางบมาสนับสนุนซึ่งภาคเอกชน พี่น้องประชาชนก็มีส่วนสำคัญด้วยเช่นกัน