svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

'ศุกร์ 13' อาถรรพ์และความเชื่อวันมหาซวย

ความเชื่ออาถรรพ์ศุกร์ 13 นั้นตามข้อมูลเปิดเผยและแพร่กระจากมาจากความเชื่อเกี่ยวกับวันและตัวเลขในคริสต์ศาสนา ตามหลักพระคัมภีร์ไบเบิลนั้นไม่ได้มีระบุหรือบอกเล่าว่าศุกร์ 13 เป็นวันแห่งความโชคร้าย แต่วันแห่งความซวยนี้มีที่มาจากการจากการตีความระหว่างคำว่า วันศุกร์ และ เลข 13 ที่สอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวโยงถึงศาสนา

โดยวันศุกร์ 13  นั้นถือว่า เป็นวันโชคร้ายของชาวคริสเตียน บางคนเชื่อว่าพระเยซูถูกตรึงกางเขนในวันศุกร์ บางความเชื่อก็ว่า วันศุกร์เป็นวันที่อีฟชักจูงให้อดัมกินผลไม้ต้องห้ามในสวนอีเดน ขณะที่ลักกี้นัมเบอร์อย่าง 13 ชาวคริสเตียนก็เชื่อว่า เป็นตัวเลขแห่งความโชคร้าย เพราะเลข 13 ไปคล้องกับจำนวนคน 13 คนที่รับประทานอาหารมื้อสุดท้ายกับพระเยซู (last supper) และเมื่อความร้ายกาจของวันศุกร์ มารวมกับเลขกาลกิณีอย่าง 13 ก็เลยดูจะยิ่งซวยไปกันใหญ่
ทั้งนี้อาถรรพ์ศุกร์ 13 ก็แพร่กระจายเข้ามาสู่ความเชื่อของคนไทย โดยจะโฟกัสไปที่เลข 13 เพราะเมื่อลองพลิกเลข 13 ไปทางขวา โดยให้เลข 1 อยู่เหนือเลข 3 จะเขียนคล้ายคำว่า " ผี " ตามอักษรไทยนั่นเอง

ถ้าลองสืบค้นบันทึกหรือข้อมูลที่พอจะรวมรวมได้ ศุกร์ 13 ไม่ใช่เพียงความเชื่อเท่านั้น เพราะในวันนี้มีเหตุการณ์ที่ตอกย้ำถึงความอาถรรพ์หลายต่อหลายเหตุการณ์ อย่างการเกิดอุบัติเหตุที่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีการทำสถิติเกี่ยวกับอัตราการเกิดอุบัติเหตุไว้ในแต่ละวันศุกร์ ซึ่งวันศุกร์ที่ 13 นั้นจะมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าวันอื่นๆ ถึง 52% ยกตัวอย่าง
วันศุกร์ ที่ 13 ปี ค.ศ. 1978 เกิดการสังหารหมู่ในอิหร่าน 13 ศพ
วันศุกร์ ที่ 13 ปี ค.ศ. 1989 บริษัทคอมพิวเตอร์ IBM เสียหายอย่างหนักเพราะโดยไวรัสคอมพิวเตอร์โจมตีระบบ
วันศุกร์ ที่ 13 เดือนเมษายน ค.ศ. 2007 เกิดทอร์นาโดหลายลูกพร้อมกันในทางเหนือของเท็กซัส เป็นต้น
ศุกร์ที่ 13 ยังทำให้อเมริกาต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นเงินเกือบพันล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากประชาชนจำนวนมากไม่กล้าเดินทางไปไหน ไม่กล้าทำอะไรไม่กล้าแม้แต่จะไปทำงาน!


ยิ่งไปกว่านั้น ความน่ากลัวของ วันศุกร์ 13 และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งให้ประชาชนหวาดกลัว จนทำให้เกิดโรคที่ชื่อว่า Paraskevidekatriaphobia มาจากภาษากรีก 3 คำคือ วันศุกร์ (Paraskevi) สิบสาม (dekatreis) และความหวาดกลัว ( Phobos)
ดร.โดนัลด์ ดอสซีย์ นักจิตวิทยาบำบัดที่ชำนาญด้านการรักษาอาการกลัวบอกว่า เฉพาะในสหรัฐฯ ประเทศเดียวมีคนเป็นโรคผวาศุกร์ที่ 13 เป็นจำนวนมากถึง 21 ล้านคน โดยอาการของผู้ที่เป็นโรคนี้คือการหลาดกลัวต่อการทำกิจกรรมต่างๆ ในวันที่ศุกร์ 13

นอกจากนี้ความเชื่อเกี่ยวกับวัฒนธรรมความซวย ความโชคร้ายของวันศุกร์ 13 ที่มีให้เห็นกันของคนชาติตะวันตกหรือผู้นับถือศาสนาคริสต์แล้ว ในวัฒนธรรมอื่นๆ แต่ละประเทศ เรื่องความเชื่อศาสตร์ตัวเลขก็มีผลกระทบไปตามวิถีของแต่ละพื้นที่เช่นกัน อย่างในประเทศในทวีปเอเชีย ตัวเลขแห่งความชั่วร้ายก็ไม่ได้เป็นตัวเลข 13 เสมอไป เช่น ในวัฒนธรรมจีนมีความเชื่อว่า เลข 4 เป็นเลขไม่เป็นมงคลเพราะออกเสียงว่า "si" (ซี้) ซึ่งหมายถึง ความตาย
สำหรับชาวญี่ปุ่นนั้น เลข 4 (เสียงตรงกันความหมายว่าตาย เช่น จีน) กับ เลข 9 (เสียงตรงกับความหมายว่าเจ็บปวดทรมาน) ถือเป็นเลขที่นำมาซึ่งโชคร้าย รวมทั้งเลขอื่นๆ ที่เสียงพ้องกับคำอื่นที่มีความหมายที่ไม่ดี เช่น 43 (เบอร์ห้องคลอดไม่มีเบอร์นี้เพราะคล้ายกับความหมายว่าลูกแท้ง) หรือ 24 (ตายสองครั้ง) ดังนั้นเบอร์ที่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงก็คือ 4 และ 9
ส่วนวัฒนธรรมอินเดีย เลขมหาซวยคือ 8 ซึ่งตรงข้ามกับจีน และญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง คำอธิบายความโชคดีและโชคร้ายของเลขทั้งสองก็แตกต่างกันไป บ้างก็อ้างความเชื่อในศาสนาฮินดู บ้างก็ว่าเลข 8 กำหนดชะตากรรมในเรื่องร้ายๆ ของประเทศ เช่น วัน เวลา แผ่นดินไหว สึนามิ ฯลฯ รวมถึง คนอินเดียเวลาทำบุญ และทำทานจะเป็นจำนวนเงินที่ไม่ลงท้ายด้วย เลข 0 เป็นอันขาด






กลับกัน ตัวเลขมหาซวยทั้งหลายอาจกลายเป็นเลขนำโชคหรือมีความหมายดีได้เหมือนกัน อย่างประเทศไทย เลข 3 ก็นิยมกันมากในเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา เนื่องจากพุทธศาสนาซึ่งมีอิทธิพลมายาวนานเกี่ยวพันกับเลข 3 เช่น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ หรือท่อง 3 จบ หรือเวียนเทียน 3 รอบ ฯลฯ
สำหรับบ้านเรานั้น ที่ถือว่าน้อมรับหลากหลายวัฒนธรรมมาไว้ ก็มีความเชื่อที่แตกต่างกันออกไปไม่ใช้เพียงความอาถรรพ์ของ ศุกร์ 13 เท่านั้น แต่ในส่วนของตัวเลข การเดินทาง สถานที่ การพูด การคิด การประพฤติปฏิบัติตั้งแต่ เกิดจนสิ้นชีพชีวิต ก็เกียวเนื่องกับความเชื่อทั้งหมด ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่สืบสานกันมาแต่โบราณ
นอกจากนี้นักพยากรณ์ชื่อดังอย่าง หมอช้าง ทศพร ก็ได้เคยเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ ศุกร์ 13 ไว้เช่นกันว่า หาดูตามหลักโราศาสตร์ การพยากรณ์แล้ว เจาะไปที่เลข 13 นั้นมีความหมายเพียงว่า เลขแห่งการต่อสู้ ฝ่าฟัน อุปสรรค นั่นจึงส่งผลให้มีความเหน็ดเหนื่อย จึงถือเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งเท่านั้น

\'ศุกร์ 13\' อาถรรพ์และความเชื่อวันมหาซวย


ทุกสิ่งทุกอย่างที่กล่าวถึงมา ณ ที่นี้ ล้วนอยู่ภายใต้กรอบของความเชื่อที่ถูกหล่อหลอมโดยวัฒนธรรม และก่อให้เกิดผลในเชิงจิตวิทยา สุดท้ายแล้วก็ไปตามที่หลายคนกล่าวว่า เรื่องความเชื่อถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล