นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นประมุขแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เป็นต้นมา พระองค์ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจในด้านต่าง ๆ อันเป็นประโยชน์แก่ชาวไทยตลอด 70 ปี โดยพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ คือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ ของประเทศ ดังในปฐมพระบรมราชโองการในระหว่างพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม "
หากย้อนรำลึกถึงสิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงทำเพื่อพสกนิกรคนไทย นั้นมากมายนักยากจะบรรยาย และในวาระครบ 4 ปี วันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ตลอด 70 ปีของการครองราชย์ในหลวง รัชกาลที่ 9 ไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม ทั้งรูปธรรม นามธรรม หรือแม้แต่พระราชดำรัส พระราชดำริ รวมถึงวิธีการที่พระองค์ ทรงมีปฏิสันถารกับบุคคลต่างๆ ทั้งพระสงฆ์และพระอริยสงฆ์ นั่นก็คือ สิ่งที่เป็นมรดกที่ทรงทิ้งไว้ให้พสกนิกรคนไทย ขอให้น้อมนำสิ่งที่พระองค์ ทรงสั่งสอนหรือทรงปฏิบัติให้ดู เป็นตัวอย่างในการดำเนินชีวิตขอน้อมนำคำสอนของพ่อหลวง มาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์และสิริมงคลแก่ชีวิตแก่พวกเราทุกคน ซึ่งพระบรมราโชวาทที่คัดเลือกมานี้สามารถนำไปปรับใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันและการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างดี
หน้าที่ที่ลูกควรปฏิบัติต่อผู้อื่น คือ การมอบน้ำใจให้แก่กันและกันดังต่อไปนี้
๑. ลูกควรมองทุกคนที่พบกันด้วยสายตาที่เป็นมิตร
๒. ลูกควรยิ้มให้ทุกคนที่พบกัน เริ่มแรกยิ้มด้วยสายตา ยิ้มด้วยใบหน้าและริมฝีปากและด้วยจิตใจที่เป็นกันเอง
๓. ลูกควรทำความรู้จักกับผู้อื่นด้วยการยิ้มและทักทาย
๔. ลูกควรโบกมือส่งยิ้มให้กับเด็ก ๆ ที่ลูกพบเห็นโดยทั่วไป
๕. ลูกควรมองคนในแง่ดี ให้มองว่าไม่มีใครจะเลวทั้งหมด
๖. ลูกควรมองว่าคนเราเป็นมิตรกันได้แม้จะมีความคิดต่างกัน
๗. ลูกควรกล่าวคำสวัสดี ยกมือไหว้ ยิ้มหรือก้มหัวตามความเหมาะสม ตามฐานะของตนแล้วแต่กรณี
๘. ลูกควรพยายามเรียกชื่อคนที่เราสนทนาด้วยระวังอย่าเรียกชื่อคนผิด
๙. ลูกควรตั้งใจรับฟังคนอื่นพูด อย่าขัดคอเขา ต้องรู้จักสังเกตให้ดี
๑๐. ลูกควรใช้คำพูดให้ติดปาก คือคำว่า ขอบคุณ ขอโทษ
๑๑. ลูกควรพูดด้วยความสุภาพ ไพเราะ อ่อนหวาน ไม่พูดหยาบคาย
๑๒. ลูกควรพูดชมเชยผู้อื่นเป็นประจำ
๑๓. ลูกควรพูดถึงคนอื่นและผู้บังคับบัญชาในด้านดีกับคนที่เขารู้จัก
๑๔. ลูกควรรู้จักขัดแย้งโดยไม่ให้เขาเสียน้ำใจ
๑๕. ลูกควรพูดคุย ในสิ่งที่ผู้คุยให้ความสนใจ
๑๖. ลูกควรหาเรืองดีดี หรือเรื่องคนทำดีมาคุยกันบ้าง
๑๗. ลูกควรหาเวลางดเว้นการพูดที่ไม่ดี หรืองดเว้นการโกรธอย่างน้อย ๑ วันต่อสัปดาห์
๑๘. ลูกไม่ควรหาเรื่องจับผิดคนอื่นโดยไม่ใช้ปัญญา
๑๙. ลูกควรให้ความเห็นใจ ปลอบใจคนที่กำลังมีความทุกข์
พ่อไม่เคยขอให้เรารักพ่อ แต่พ่อขอให้เรารักกัน
ขอบคุณที่มา๑๙คำพ่อสอนให้เรารักกัน