ต่อมา "กลุุ่มนักการเมือง" ที่เคยสังกัดพรรคพลังประชาชน และพรรคไทยรักไทยเดิม ได้เข้าเทคโอเวอร์พรรคเพื่อไทย หลังจากพรรคพลังประชาชนถูกยุบ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551
หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนแรกที่เป็นเครือข่ายของ นายทักษิณ ชินวัตร คือ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช แต่เป็นหัวหน้าแค่ช่วงสั้นๆ ระหว่างวันที่ 21 ก.ย. 2551 ถึง 19 พ.ย. 2551
จากนั้นจึงเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคเป็น นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นหัวหน้าพรรคตัวจริง ระหว่างวันที่ 7 ธ.ค. 2551 ถึง 4 ต.ค. 2555
ช่วงที่นายยงยุทธ เป็นหัวหน้าพรรค เป็นช่วงคาบเกี่ยวของรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ นายยงยุทธ ได้เป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบรมว.มหาดไทย แต่ภายหลังโดนคดีทุจริตต่อหน้าที่ เกี่ยวกับที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ ซึ่งเป็นความผิดตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน ทำให้ต้องเข้าไปชดใช้กรรมในเรือนจำ
การได้เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และรับตำแหน่งใหญ่ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็มีข่าวว่าเป็นการตอบแทนของเครือข่ายทักษิณ ที่นายยงยุทธ ดำเนินการเรื่องที่ดินอัลไพน์ให้นายทักษิณ ซึ่งซื้อต่อที่ดินผืนนี้มาจากนายเสนาะ เทียนทอง และขายออกไปในเวลาต่อมา เพื่อไม่ให้ติดปัญหาเป็น "ที่ธรณีสงฆ์" ห้ามซื้อขาย
เมื่อนายยงยุทธ พ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค ก็มี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ มารักษาการแทนสั้นๆ และพรรคได้เลือก นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ มาเป็นหัวหน้าพรรคแทน ตั้งแต่วันที่ 30 ต.ค. 2555 ถึง 16 มิ.ย. 2557 จากนั้นนายจารุพงศ์ ก็ลาออกจากหัวหน้าพรรค เดินเกมนอกสภาเต็มตัวกับกลุ่มแดงฮาร์ดคอร์ และหลบหนีออกนอกประเทศ ช่วงที่มีการยึดอำนาจโดย คสช. หรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
นายจารุงพงศ์ โดน คสช.สั่งอายัดทรัพย์ และโดนหมายจับศาลทหารในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของ คสช. ขณะที่เจ้าตัวไปเคลื่อนไหวกับกลุ่มคนเสื้อแดงในต่างประเทศ
ต่อมาเมื่อ คสช. ปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ พรรคเพื่อไทยก็ขยับตัวอีกครั้ง โดยมี พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ เป็นหัวหน้าพรรค และนำพรรคสู้ศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ก่อนจะลาออกไปเพราะปัญหาภายใน ทำให้นายปลอดประสพ สุรัสวดี มาเป็นรักษาการหัวหน้าพรรค ซึ่งภายหลัง นายปลอดประสพ ก็โดนศาลพิพากษาจำคุก ในคดีสั่งย้ายข้าราชการป่าไม้โดยมิชอบ สมัยที่ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมป่าไม้
จากนั้น นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ก็ก้าวเข้ามาเป็นห้วหน้าพรรคแทน เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2562 และนั่งยาวมาจนถึงวันที่ 26 ก.ย. 2563 ก่อนจะยื่นใบลาออก เมื่อ "เจ้าของพรรคตัวจริง" กลับมาทวงพรรคคืน
ปัจจุบันพรรคเพื่อไทยมี นายชูศักดิ์ ศิรินิล เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค
พรรคพลังประชาชน เป็นพรรคที่กลุ่มนักการเมืองที่เคยสังกัดพรรคไทยรักไทย ย้ายเข้าไปสังกัดหลังพรรคไทยรักไทยถูกยุบ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2550
พรรคพลังประชาชน จดทะเบียนก่อตั้งตั้งแต่ปี 2541 มี พ.ต.ท.กานต์ เทียนแก้ว เป็นหัวหน้าพรรค จากนั้นในปี 2550 กลุ่มนักการเมืองจากอดีตพรรคไทยรักไทยได้เข้าเทคโอเวอร์ และได้ไปเชิญ นายสมัคร สุนทรเวช เข้ามาเป็นหัวหน้าพรรค นำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง กระทั่งได้รับชัยชนะ และจัดตั้งรัฐบาล
นายสมัคร เป็นนายกฯ ได้เพียง 7 เดือนเศษ ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากรับจ้างเป็นพิธีกรรายการทำกับข้าวออกทีวี และ ส.ส.พรรค ไม่เลือกนายสมัคร กลับมาเป็นนายกฯอีก ทำให้นายสมัครตัดสินใจวางมือทางการเมือง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ขณะที่พรรคพลังประชาชนตั้ง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นรักษาการหัวหน้าพรรค และนั่งเก้าอี้นายกฯต่อเนื่องมา แต่สุดท้ายก็ไม่รอด ถูกยุบพรรค เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 เนื่องจากมีกรรมการบริหารพรรคทุจริตเลือกตั้ง คือ นายยงยุทธ ติยะไพรัช หรือ "ยุทธ ตู้เย็น" โดย นายสมชาย ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
พรรคไทยรักไทย คือ พรรคที่ทำให้ นายทักษิณ ชินวัตร ประสบความสำเร็จทางการเมือง หลังจาก ลุ่มๆ ดอนๆ มาจากพรรคพลังธรรม
จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2541 (เดิมมีข่าวจะจดทะเบียน 14 กรกฎาฯ แต่ตรงกับวันชาติฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการล้มระบอบราชาธิปไตย เปลี่ยนมาเป็นประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ) โดยนายทักษิณ เป็น 1 ในผู้ร่วมก่อตั้ง และเป็นหัวหน้าพรรค นำพรรคสู้ศึกเลือกตั้งเมื่อปี 2544 ได้รับชัยชนะ ดำรงตำแหน่งนายกฯครบ 4 ปี เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และชนะเลือกตั้งต่อเป็นสมัยที่ 2 ก่อนจะถูกรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 และถูกตุลาการรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2550 พร้อมเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรค 111 คน
โดยก่อนถูกยุบพรรค นายจาตุรนต์ ฉายแสง ได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรค กระทั่งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเพราะพรรคถูกยุบ ส่วนนายทักษิณ มีคดีทุจริตขึ้นสู่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนับสิบคดี หลายคดีมีคำพิพากษาไปแล้ว และไม่นับอายุความเมื่อเจ้าตัวหลบหนี ทำให้นายทักษิณ ต้องใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศร่วมกับน้องสาว คือ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี