เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 31 ส.ค. 63 ที่ห้องศาลาช่อกาลพฤกษ์ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดแสดงผลงานความสำเร็จงานวิจัยแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนเอ็ม 16 โดยรศ. นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี เป็นประธาน พร้อมด้วยนักวิจัย ผศ.พนมกร ขวาของ ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ และอาจารย์สุธา ลอยเดือนฉาย แถลงความสำเร็จของงานวิจัย พร้อมชมวิดีโอทดสอบประสิทธิภาพของแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนเอ็ม 16ผศ.พนมกร กล่าวว่า โครงการวิจัยนวัตกรรมการพัฒนารังไหมเป็นแผ่นรังไหมรับแรงกระแทก ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้ตำรวจ ทหาร รวมถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐได้รับอันตรายจากการปฏิบัติหน้าที่ จึงได้ ร่วมกับอาจารย์สุธา คิดค้นพัฒนารังไหมให้เป็นเสื้อเกราะกันกระสุน
สาเหตุที่ใช้รังไหมเพราะมีความแข็งแรงสูงมากกว่า 4.8 จิกะปาสคาล ขึ้นไป เส้นไหมยืดหยุ่นได้ดีตั้งแต่ร้อยละ 35 และสามารถหดตัวกลับคืนได้ถึงร้อยละ 92 จากคุณสมบัติดังกล่าวพบว่าเส้นไหมมีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับเส้นใยเหล็ก จึงออกแบบและพัฒนานำรังไหมมาทำเป็นอุปกรณ์ป้องกันกระสุนปืน ในช่วง 2 ปีแรกมีการทดสอบการยิงพบว่าสามารถป้องกันการยิงปืนสั้น .22 ระยะการยิง 3 เมตร เป็นการป้องกันในระดับ 1"มีการพัฒนางานต่อเนื่องมานาน 6 ปีแล้ว ถึงเจนเนอเรชั่นที่ 3 ที่สามารถกันแรงกระแทกกระสุนปืน M16 ได้ กระบวนการผลิตแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. จะมี กระบวนผลิตแตกต่างจากแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น ต้านทานแรงกระแทกได้ดีแต่เพิ่มวัสดุที่สามารถรับและกระจายแรงเข้าไป พร้อมทั้งพัฒนาปรับปรุงน้ำยายึดเกาะชนิดพิเศษเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้ได้แผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มม. หรือ กระสุนปืน M16 ได้ ซึ่งแตกต่างจากแผ่นรังไหมเดิมที่รับได้เฉพาะแรงกระสุนปืนสั้นเท่านั้น"ผศ.พนมกร กล่าว
สำหรับแผ่นรังไหมรับแรงมี 2 แบบ คือ แผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนสั้น ซึ่งมี 3 รุ่น ได้แก่ รุ่นน้ำหนัก 0.9 ,0.75 และ 0.55 กิโลกรัม และแผ่นรังไหมรับแรงกระสุนปืนขนาด 5.56 มิลลิเมตร ซึ่งมี 2 รุ่น คือ น้ำหนัก 2 และ 1.6 กิโลกรัม เพื่อให้เจ้าหน้าที่เลือกใช้ได้ตามความเหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ โดยทั้งหมดได้จดสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว