นักวิทยาศาสตร์ ออกมาย้ำอีกครั้งว่า "หมีขั้วโลก" จ่อสูญพันธุ์ภายในปี 2100 หรืออีก 80 ปีข้างหน้า ถ้าสถานการณ์โลกร้อนยังไม่ดีขึ้น ทำให้น้ำแข็งในทะเลละลาย จนหมีไม่มีแหล่งอาหารโดย ด๊อกเตอร์ ปีเตอร์ มอลนาร์ จาก University of Toronto in Ontario กล่าวย้ำว่า หมีขั้วโลก เป็นสัตว์ลำดับต้นๆ ของโลก ที่จะได้รับความเดือดร้อน จากน้ำแข็งทะเลละลาย เพราะไม่มีที่ทางให้มันอยู่
ซึ่งหมีขั้วโลก อาจหายไปภายในสิ้นศตวรรษนี้ เพราะน้ำแข็งในทะเลละลายหายไปอย่างมาก และทำให้หมีขั้วโลกขาดแหล่งอาหารด้วย
หมีขั้วโลก ซึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณมหาสมุทรอาร์กติก ต้องอาศัยแผ่นน้ำแข็งทะเล ในการล่าแมวน้ำ แต่การละลายหรือแยกตัวของน้ำแข็ง ทำให้หมีขั้วโลกต้องออกห่างจากที่ล่าไปยังที่ไกลๆ หรือต้องออกล่าบนชายฝั่ง ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการหาอาหารเลี้ยงลูกๆ ของมัน
โดยในขณะนี้ หมีขั้วโลก ถูกจัดอยู่ในรายชื่อของ สิ่งมีชีวิตที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ ของ IUCN ซึ่งภาวะโลกร้อน เป็นหนึ่งในตัวการสำคัญ ที่ทำให้ชีวิตของพวกมัน อยู่ในความเสี่ยง
งานวิจัยหลากหลายชิ้นเผยว่า การลดลงของน้ำแข็งในทะเลนั้น ทำให้ประชากรของหมีขั้วโลกลดลง ซึ่งงานวิจัยชิ้นใหม่ล่าสุด ได้คำนวณเวลาว่า มันจะหายไปจากโลกเมื่อไหร่
ด้าน ด๊อกเตอร์ สตีเว่น แอมสตรัป นักวิทยาศาตร์ ระบุว่า ในอนาคต ลูกหมี จะมีชีวิตอยู่รอดได้ยาก เพราะตัวของแม่หมี ไม่มีไขมันในร่างกาย ที่จะผลิตนมให้ลูก ในช่วงที่ไม่มีน้ำแข็ง
และการที่เราจะช่วยชีวิตเพื่อนร่วมโลกของเราไว้ได้ก็คือ ต้องร่วมกันลงมือทำอะไรสักอย่าง
งานวิจัยเผยอีกว่า จากสถานการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปัจจุบัน อาจมีความเป็นไปได้ว่า ประชากรของหมีขั้วโลกบางส่วน อาจจะหายไปภายในปี 2100 หากสถานการณ์โลกร้อนยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
และถึงแม้เราจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลกได้ แต่ประชากรหมีขั้วโลกหลายแห่ง ก็ยังจะหายไปอยู่ดี
งานวิจัยนี้ สอดคล้องกันงานวิจัยก่อนหน้า ในปี 2017 ที่เผยว่า จะมีประชากรหมีขั้วโลกเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่จะสามารถอยู่ได้ในสภาพอากาศปี 2100 หากโลกยังร้อน และสภาพภูมิอากาศยังเป็นแบบนี้
โดยน้ำแข็งในทะเล หรือน้ำทะเลที่แข็งตัว และลอยตัวอยู่เหนือพื้นผิวของมหาสมุทร จะเกิดขึ้นและละลายหายไปในฤดูต่างๆทุกปี ซึ่งน้ำแข็งในทะเล เป็นสิ่งจำเป็นต่อการอยู่อาศัยและดำรงชีวิตของสัตว์ป่าแถบขั้วโลกอย่าง หมี แมวน้ำ และวอลรัส
มีรายงานว่า น้ำแข็งในทะเลที่ลอยอยู่ในทวีปอาร์กติกได้นานกว่า 1 ปีนั้น มีปริมาณลดลงไปในอัตรา 13% ในทุกๆสิบปี นับตั้งแต่มีการบันทึกปริมาณน้ำแข็งทางดาวเทียมที่เริ่มในช่วงปี 1970