วันแรงงาน หรือในภาษาอังกฤษเรียกว่า "เมย์เดย์" เป็นวันเริ่มต้นการเข้าสู่ฤดูกาลใหม่ ที่เกษตรกรในประเทศแถบยุโรปจะหยุดงาน เพื่อจัดพิธีเฉลิมฉลองและบวงสรวงเทพเจ้าแห่งการเกษตร
ต่อมาไม่นานเมื่อเศรษฐกิจหลักของประเทศพัฒนาเปลี่ยนจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม ประเพณีวันหยุดประจำปีจึงถูกยกเลิก ขณะที่แรงงานมนุษย์ถูกมองเสมือนเครื่องจักรประเภทหนึ่ง ที่ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 10-16 ชั่วโมง ในสิ่งแวดล้อมที่ย่ำแย่ ด้วยเหตุนี้ประชาชนในสหราชอาณาจักรจึงเริ่มเรียกร้องการปรับปรุงเวลาและเงื่อนไขการทำงาน ซึ่งรู้จักกันในชื่อ "วันแปดชั่วโมง" หรือ "EIGHT-HOUR DAY" ในปี ค.ศ. 1817
จากนั้นในปี 1856 แรงงานชาวออสเตรเลียพร้อมใจกันประกาศให้วันที่ 21 เมษายน เป็นวันหยุดประจำปีของแรงงานทุกคน เพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ต่อสู้ในวันแปดชั่วโมง ในเวลาต่อมาสหพันธ์สหภาพแรงงานจึงประกาศให้วันที่ 1 พฤษภาคม 1886 เป็นวันระลึกถึงวันแปดชั่วโมงทั่วโลก
เมื่อได้ยินเช่นนั้น แรงงานในสหรัฐฯ ทั่วประเทศจึงนัดหยุดงานและออกประท้วงเพื่อสนับสนุนวันดังกล่าว แต่เหตุการณ์บานปลายจนเกิดการปะทะระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมในเมืองชิคาโก้ จนเป็นเหตุให้ตำรวจและผู้ชุมนุมเสียชีวิตจำนวนมาก
จนถึงปี 1904 ระหว่างการประชุมสังคมนิยมระหว่างประเทศที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเยอรมนี ก็เกิดกรณีเรียกร้อง ให้องค์กรพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยและสหภาพแรงงานทั่วโลก ประท้วงเรียกร้องสิทธิแรงงานในวันที่ 1 พฤษภาคม และกำหนดให้องค์กรกรรมกรทั่วโลกหยุดทำงานในวันเดียวกัน นับจากนั้นเป็นต้นมา วันที่ 1 พฤษภาคมจึงเป็น "วันกรรมกรสากล" หรือ "วันเมย์เดย์" ยกเว้นประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดาที่ถือเอาวันจันทร์แรกของเดือนกันยายนเป็นวันแรงงาน
ส่วนในประเทศไทย เมื่ออุตสาหกรรมได้ขยายตัวขึ้น ผู้ใช้แรงงานก็มีปัญหามากขึ้น รวมทั้งปัญหาแรงงานก็มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น จนทำให้ในปี พ.ศ. 2475 ประเทศไทยก็ได้เริ่มมีการจัดการบริหารแรงงานซึ่งเป็นการจัดสรรและพัฒนาแรงงานรวมถึงคุ้มครองดูแลสภาพการทำงาน เพื่อสร้างรากฐานและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง
ปี พ.ศ. 2499 คณะกรรมการการจัดงานที่ระลึกแรงงาน ได้จัดประชุมขึ้นพร้อมทั้งมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันระลึกถึงแรงงานไทย จึงได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีขอให้รับรองวันที่ 1 พฤษภาคม จนเป็นที่มาของ "วันกรรมกรแห่งชาติ"
ปี พ.ศ. 2500 ได้เปลี่ยนเป็นวันแรงงานแห่งชาติ และได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งได้กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติด้วย แต่พระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวก็มีอายุเพียงแค่ 18 เดือนก็ถูกยกเลิกไป โดยมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มาแทนที่ มีการให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน โดยกำหนดให้วันกรรมกรแห่งชาติเป็นวันหยุดตามประเพณี เพื่อเตือนนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม แต่ไม่ให้มีการเฉลิมฉลองเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2517 จึงได้เปิดให้มีการฉลองตามความสมควร จึงมอบให้กรมแรงงานที่ขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย จัดงานฉลอง "วันแรงงานแห่งชาติ" ที่สวนลุมพินี โดยจัดให้มีการทำบุญตักบาตร และแสดงนิทรรศการให้ความรู้แบบเรียบง่าย