วันนี้ (19 เม.ย.2563) กระทรวงสาธารณสุข แถลงความคืบหน้าการผลิตวัคซีนต้านไวรัส COVID -19 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เผยว่า ขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการผลิตวัคซีนต้านไวรัส COVID -19 โดยมีทีมวัคซีนไทยแลนด์ นำโดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดลและเอกชน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลอง
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) กล่าวว่า ขณะนี้นักวิทยาศาสต์ทั่วโลกอยู่ระหว่างผลิตทั้งการสังเคราะห์ดีเอ็นเอ หรือ อื่นๆ และนำมาฉีดในสัตว์ทดลองว่า กระตุ้นให้สัตว์ทดลองเช่นลิง หรือ หนู ว่าเกิดภูมิค้มกันและปลอดภัยหรือไม่
ต่อมาจึงทดสอบในคนโดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ในระยะที่ 1.ดูในเรื่องความปลอดภัย จำนวน 30 - 50 คน ระยะที่ 2. ดูว่าวัคซีนสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันตัวที่จะกั้นไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้หรือไม่ โดยยทดลองในคนจำนวน 100 - 150 คน และระยะที่ 3 ดูว่าวัคซีนสามารถป้องกันโรคได้หรือไม่จำนวนคน 500 คน ขึ้นไป หากผ่านการทดสอบจากนั้นขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีน COVID -19 โดยความคืบหน้าอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมิรกา และจีนซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นทดลองในคน ระยะที่ 2
ทั้งนี้ ในส่วนการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัส COVID -19 ของไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ร่วมมือกับ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เริ่มวิจัยในขั้นห้องทดลอง ขณะที่ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ เอกชน สามารถเดินหน้าทดลองจากขั้นตอนของห้องทดลองสู่ขั้นของการทดลองในสัตว์แล้ว ขณะที่ในต่างประเทศ ที่มีความก้าวหน้าคือในประเทศสหรัฐอเมริกา จีนและอังกฤษ ที่สามารถเริ่มทดสอบในคนในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ได้ โดยขณะนี้มีวัคซีนทั้งหมด 6 ชนิด
นพ.นคร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในไทยหากจะให้เข้าถึงวัคซีนต้านไวรัส COVID -19 หากไทยสามารถทำแผนร่วมมือในการวิจัยและแผนในการถ่ายทอดเทคโนโลยี จะเป็นหนทางในการเข้าถึงวัคซีนโดยเร็วที่สุด พร้อมกันนั้นต้องมีการพัฒนาวัคซีนต้นแบบ ที่ขณะนี้ดำเนินการอยู่เพื่อให้ไทยมีนักวิจัยและโรงงานที่ผลิตวัคซีนที่มีศักยภาพที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกัน
นพ.นคร กล่าวว่า ไทยไม่สามารถรอจนกว่าเข้าสู่ภาวะสงบ เนื่องจากต้องรอให้ประชากรมีภูมิคุ้มกันมากกว่าร้อยละ 60 หรืออย่างน้อยประชากร 35 ล้านคน ซึ่งการมีภูมิคุ้มกันต่อโรคไม่ว่าจะด้วยการติดเชื้อตามธรรมชาติหรือวัคซีน หากปล่อยเป็นไปตามธรรมชาติจะสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก
"การรอซื้อวัคซีนโดยไม่ทำอะไรเลยจะทำได้ยากเพราะต้องรอต่อคิวซื้อ การผลิตวัคซีนครั้งแรกที่ได้ผลแล้ว ไม่มีประเทศใดในโลกที่จะผลิตให้เพียงพอต่อคนทั้งโลกได้ การผลิตวัคซีนของไทยได้เริ่มแล้วและควรสร้างโรงงานผลิตวัคซีนที่ได้มาตรฐาน หากทำได้เร็วขึ้นแม้เพียง 1 เดือนก็ถือว่าคุ้มค่า และจะเป็นพื้นฐานในการรับภาวะโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ได้ในอนาคต"
ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การทดลองวิจัยพัฒนาวัคซีนในสัตว์ทดลองมีแล้ว คือที่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยขณะนี้ฉีดทดลองในสัตว์ทดลองไปแล้ว 2 ครั้ง สถาบันฯอยู่ระหว่างการตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันว่ามีเพิ่มแค่ไหน นอกจากนี้ยังมีมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ขอให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เพิ่มจำนวนไวรัสเพื่อจะนำไปฆ่าเชื้อ เพื่อให้เป็นวัคซีนเชื้อตายเพื่อนำไปทดสอบในสัตว์ทดลอง และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะตรวจวัดระดับภูมิคุ้มกันต่อไป