จากกรณี เอเอฟพีรายงานจากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แม็กนิจูด มีจุดศูนย์กลางบน เกาะสุลาเวสี ทางตอนกลางของ อินโดนีเซีย เกิดขึ้นเมื่อเวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น แรงสั่นสะเทือนก่อคลื่นสึนามิซัดเข้าชายฝั่งเมืองปาลู ห่างจากจุดศูนย์กลาง 80 ก.ม. หลังบ้านเรือนและอาคารหลายหลังพังถล่มลงมา
สืบเนื่องจากกรณีดังกล่าวนั้น ทาง ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ออกมาแนะว่า ประเทศไทยเสี่ยงเกิดสึนามิ ทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน โอกาสเกิดซ้ำรอยเดิม ปี 2547 เตือนคนในพื้นที่ระนอง-กระบี่ มีความเสี่ยงสูงสุด แต่จากเหตุการณ์ สึนามิที่เกิดขึ้นที่ อินโดนีเซีย นั้น ประเทศไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่หากเป็นเรื่องแผ่นดินไหวอาจมีความเป็นไปได้ เนื่องจากรอยเลื่อนอยู่ติดต่อกันอาจเกิดแรงสั่นสะเทือนบ้าง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า จะสะเทือนจนถึงขั้นมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นหรือไม่
โดยประเทศไทยมีความเสี่ยงจากสึนามิทั้ง 2 ด้าน ด้านที่เสี่ยงสูงสุดคือ ด้านทะเลอันดามัน ซึ่งจะเกิดซ้ำขึ้นอีกกับสึนามิที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2547 โดยคลื่นฝั่งอันดามัน จะสูงตั้งแต่ 5 เมตรขึ้นไปจนถึง 10 กว่าเมตร ส่วนฝั่งอ่าวไทย หากเกิดขึ้นที่รอยเลื่อนฟิลิปปินส์ คลื่นจะสูงที่สุด คือ 2 เมตร แม้ระดับคลื่นจะสูงเพียง 2 เมตร แต่ถือว่ามีอันตรายมาก
โดยขณะนี้ศูนย์เตือนภัยนานาชาติ อยู่ระหว่างเฝ้าระวังแต่ปัญหาคือ ระยะเวลาในการแจ้งเตือนจากศูนย์เตือนภัยนานาชาติ ที่แจ้งเตือนมายังประเทศไทย ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20 นาที อีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ทุ่นเตือนภัยในบริเวณนั้นเสีย ไม่สามารถดูข้อมูลได้ หากมีสึนามิเกิดขึ้นอาจเกิดความเสียหาย
ส่วนจุดที่มีความเสี่ยงสูงสุด คือ จังหวัดที่อยู่ริมทะเลอันดามัน ตั้งแต่จังหวัด ระนอง พังงา ภูเก็ต สตูล จนถึงกระบี่ ประกอบกับทุ่นเตือนภัยเสีย ความเสี่ยงที่รองลงมา คือ แนวอ่าวไทย หากเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8 แมกนีจูด ที่แผ่นฟิลลิปปินส์ มีโอกาสเกิดสึนามิเช่นกัน แต่คลื่นอาจจะสูงน้อยกว่า ซึ่งสึนามิไม่ว่าระดับคลื่นจะสูงมากหรือน้อยถือว่าอันตรายทั้งหมด