svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิด 5 คำถาม ไขความกระจ่าง ใครมีสิทธิเป็นเจ้าของ"ดวงจันทร์"

เป็นไปได้ที่อาจพบกำเนิดของดวงจันทร์และ "มนุษย์ต่างดาว" เหมือนหนังทรานส์ฟอร์เมอร์ส 3 ดาร์ค ออฟ เดอะ มูน แม้มนุษย์โลกจะมองเห็นดวงจันทร์ทุกค่ำคืน แต่น้อยคนนักที่รู้ว่าแสงสว่างสีนวลกลม แต่งแต้มด้วยเงารูปกระต่ายสีเทาเข้มนั้น เป็นเพียงด้านเดียวของดวงจันทร์เท่านั้น แต่อีกด้านหนึ่งกลับเอียงอายไม่เคยหันมาทักทายพวกเราเลย นักดาราศาสตร์จึงเรียกว่า "ดวงจันทร์ด้านมืด" (dark side of the Moon) หรือ "ด้านที่ห่างไกล" (far side of the Moon)...

          

          ดวงจันทร์อยู่ห่างจากโลกประมาณเกือบ 4 แสนกิโลเมตร ทำให้อุณหภูมิแตกต่างจากโลกมนุษย์อย่างสิ้นเชิง เพราะกลางวันอาจสูงถึง 100-120 องศาเซลเซียส ส่วนกลางคือแสนหนาวเหน็บ "-150 ถึง -170 องศาเซลเซียส"

          มนุษย์มองไม่เห็นดวงจันทร์อีกด้านหนึ่งเป็นเพราะกลไกการหมุนรอบตัวและแรงโน้มถ่วงระหว่าง โลก ดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์  ระยะเวลาที่ดวงจันทร์หมุนรอบตัวเองเท่ากับที่หมุนโคจรรอบโลกมนุษย์ หมายความว่าหมุนรอบตัวเองไปด้วยหมุนรอบโลกไปด้วยพร้อมๆ กัน ก็เลยหมุนตามกันไปด้านเดียว ทำให้มีด้านเดียวหันมาทางโลกตลอดเวลา

          ปัจจุบันมีเพียง 6 ประเทศ ได้แก่ อเมริกา รัสเซีย ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย ที่เคยส่งมนุษย์อวกาศและยานสำรวจข้ามโลกไปปักธงชาติตัวเองบนผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ แต่เป็นเพียงด้านสว่างเท่านั้น ทำให้เกิดปริศนามาตลอดว่าอีกด้านหนึ่งของดวงจันทร์หน้าตาเป็นอย่างไร มีเงารูปกระต่ายด้วยหรือไม่ เพราะด้านนั้นอยู่ไกลกว่าและไปยากกว่าหลายเท่า ...

          จนกระทั่งเมื่อประมาณตีห้า ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ศูนย์ส่งดาวเทียมเมืองซีชาง มณฑลเสฉวน ถือฤกษ์งามยามดีปล่อยจรวดยิงดาวเทียม "เชวี่ยเฉียว" (QueQiao) ขึ้นสู่อวกาศประสบความสำเร็จ พร้อมประกาศว่า นี่คือดาวเทียมดวงแรกของโลกที่เข้าสู่ "วงโคจรแอลทู" (Lagrange point :L2) ของดวงจันทร์ ห่างจากโลกไปไกล 4.5 แสนกิโลเมตร ภารกิจของ "เชวี่ยเฉียว" คือรองรับการสื่อสารของยานอวกาศ "ฉางเอ๋อ4" ที่จีนจะรีบส่งตามขึ้นไปคลี่คลายปริศนา "ดวงจันทร์ด้านมืด" ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

          หากจีนทำสำเร็จจริง จะกลายเป็นชาติแรกในโลกแซงหน้ายักษ์ใหญ่ "นาซา" ของอเมริกา ขึ้นไปผงาดบนดวงจันทร์ด้านที่มนุษย์ไม่เคยได้ยลโฉมมาก่อน.. !?!

          ประเมินกันว่าโครงการสำรวจดวงจันทร์แต่ละครั้งนั้น ใช้งบประมาณ 5-6 แสนล้านบาท หรือ 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ...

          ทีมข่าว "คมชัดลึก" สัมภาษณ์เจาะลึก 5 คำถามกับ "ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน" ผู้เชี่ยวชาญกลศาสตร์วงโคจร สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) หรือ จิสด้า เพื่อคลี่คลายปริศนาว่าเหตุใด รัฐบาลจีนยอมทุ่มเทเงินมหาศาลสำรวจดวงจันทร์ โดยเฉพาะ "ด้านมืด" ที่ต้องใช้งบประมาณสำรวจสูงกว่าปกติ บนนั้นมีทรัพยากรมูลค่ามหาศาลอะไรซ่อนอยู่ ?

          คำถาม 1 มีกี่ประเทศส่งไปสำรวจดวงจันทร์และพบอะไรบ้าง


          - มีการส่งดาวเทียมไปตั้งแต่ปี 1958 ในระยะแรกมีเพียงอเมริกาและรัสเซีย โครงการที่โด่งดังสุดคือ อพอลโล 11 (Apollo 11) เป็นครั้งแรกที่มนุษย์ลงเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์ ถือเป็นก้าวสำคัญของการแข่งขันและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ หลังจากนั้นไม่นานก็มีญี่ปุ่น จีน อินเดีย ส่งดาวเทียมขึ้นไปสำรวจเช่นกัน เฉพาะอเมริกากับรัสเซียส่งไปกว่า 50 ครั้งแล้ว จุดประสงค์หลักในการสำรวจคือ ตรวจลักษณะพื้นผิว และเก็บตัวอย่าง ดินและหิน กลับสู่โลกเพื่อวิเคราะห์

          แต่ตอนนี้จีนมาแรง จัดตั้งโปรแกรมสำรวจดวงจันทร์ของประเทศจีน (Chinese Lunar Exploration Program: CLEP) เริ่มเมื่อปี 2007 ฉางเอ๋อ1 ถูกส่งขึ้นไปเพื่อทำแผนที่ดวงจันทร์จากการโคจรรอบดวงจันทร์ หลังจากภารกิจเสร็จสิ้น ยานอวกาศนี้ถูกวางแผนให้ตกบนพื้นผิวดวงจันทร์ ปี 2010 ฉางเอ๋อ2 ถูกส่งขึ้นโคจรรอบดวงจันทร์ และหลุดจากวงโคจรจากอุกกาบาตเพื่อไปสำรวจอวกาศ (Deep space) ปี 2013 ฉางเอ๋อ3 พร้อมกับยานสำรวจอวกาศโรเวอร์สำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ได้สำเร็จ และขุดค้นสำรวจธรณีวิทยาบนดวงจันทร์นานถึง 3 เดือน ปฏิบัติการครั้งนี้ทำให้ประเทศจีนกลายเป็นชาติที่ 3 จากอเมริกาและรัสเซีย ที่สามารถส่งยานไปสำรวจพื้นผิวบนดวงจันทร์

          สำหรับโครงการปีนี้ 2018 ฉางเอ๋อ4 มีกำหนดส่งยานสำรวจอวกาศโรเวอร์ไปเช่นกัน แต่พื้นที่เป้าหมายคือ "ด้านมืดของดวงจันทร์" ถือเป็นพื้นผิวที่ยังไม่มีชาติใดในโลกเคยสำรวจมาก่อน นอกจากรูปถ่ายตั้งแต่ปี 1959 หรือ 60 ปีที่แล้วเท่านั้น ถ้าปีนี้สำเร็จ ในปีหน้า 2019 ฉางเอ๋อ5 จะขึ้นไปเก็บตัวอย่างดินและหินกลับมาส่งโลกเพื่อวิเคราะห์หาแร่ธาตุด้วย

          คำถาม 2 ทำไมดวงจันทร์ด้านมืดจึงเป็น "ปริศนา" ?


          เนื่องจากวงโคจรของดวงจันทร์หันมาด้านเดียวเข้าหาโลก ทำให้การทำงานของอุปกรณ์สื่อสารทุกชนิดในบริเวณนั้นเป็นไปได้ยากมาก จำเป็นต้องส่งดาวเทียมสื่อสารรีเรย์(relay satellite) ช่วยเชื่อมระหว่างสถานีควบคุมบนโลกกับยานสำรวจโรเวอร์ในขณะปฏิบัติงาน นั่นคือเหตุผลที่จีนต้องส่งดาวเทียมรีเรย์ชื่อ "เชวี่ยเฉียว" ขึ้นไปก่อนเพื่อให้ภารกิจฉางเอ๋อ4 ประสบความสำเร็จ

          "เชวี่ยเฉียว" แปลว่า สะพานนกกางเขน ตามนิทานโบราณของจีน เชื่อว่าฝูงนกกางเขนใช้ปีกต่อกันเป็นสะพานในคืนวันที่เจ็ดเดือนเจ็ด เพื่อให้ธิดาองค์ที่เจ็ดของเทพธิดาแห่งสรวงสรรค์ ข้ามไปหาสามียอดรัก หลังจากพลัดพรากจากกันบนสะพานช้างเผือก เปรียบเทียบหน้าที่ของดาวเทียมเชวี่ยเฉียว คือเป็นเหมือนสะพานเชื่อมการสื่อสารติดต่อจากสถานีภาคพื้นบนโลกกับยานสำรวจดวงจันทร์โรเวอร์ เพื่อคลี่คลายปริศนาของดวงจันทร์ด้านมืด

          คำถาม 3 นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าจะ "พบเห็นอะไร ?" บนด้านมืดของดวงจันทร์


          นักวิทยาศาสตร์มีจุดประสงค์ต้องการศึกษาแร่ธาตุและลักษณะพื้นผิวของบริเวณด้านมืด เพราะยังไม่มีชาติใดเคยสำรวจ และเป็นไปได้ที่อาจพบข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการกำเนิดของดวงจันทร์ หรืออาจจะพบ "มนุษย์ต่างดาว" เหมือนภาพยนตร์เรื่อง ทรานส์ฟอร์เมอร์ส 3 ดาร์ค ออฟ เดอะ มูน (Transformer 3 Dark of the Moon) ก็เป็นไปได้

          คำถาม 4 อุปสรรคปัญหาที่อาจทำให้ภารกิจล้มเหลว


          โอกาสที่ภารกิจนี้จะไม่สำเร็จถือว่าน้อยมาก เพราะองค์กรอวกาศของจีนวางแผนอย่างเป็นขั้นตอนการพัฒนาและเป็นระบบ ช่วงแรกส่งดาวเทียมไปสำรวจและเก็บข้อมูลทางภาพ และจีนก็ประสบความสำเร็จที่ส่งโรเวอร์ไปในภารกิจฉางเอ๋อ3 ล่าสุดไม่กี่วันมานี้การส่งดาวเทียมเชวี่ยเฉียวก็สำเร็จไปแล้ว ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้โอกาสล้มเหลวมีน้อยมาก

          คำถาม 5 ที่ผ่านมา "สิ่งค้นพบจากดวงจันทร์" มีอะไรเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์โลกบ้าง 


          "เศษหิน" ที่เก็บมาจากดวงจันทร์เป็นหลักฐานสำคัญในการศึกษากำเนิดโลกและดวงจันทร์ เหตุผลที่ไม่สามารถศึกษาจากหินบนผิวโลก เพราะพื้นผิวโลกมนุษย์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด ฯลฯ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงจากน้ำมือมนุษย์เอง ทำให้หลักฐานดั้งเดิมเลือนหายจางไป ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าดวงจันทร์เป็นส่วนหนึ่งของโลกมาก่อน และจากคุณสมบัติส่วนประกอบแร่ธาตุบนพื้นผิวดวงจันทร์มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะกลายเป็นทรัพยากรสำคัญ ยิ่งไปกว่านั้นยังเอามาสร้างสถานีอวกาศเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ในอนาคตได้ด้วย

          จากคำตอบทั้ง 5 ข้อ เริ่มเห็นแล้วว่า ทำไมประเทศมหาอำนาจจึงพร้อมทุ่มเงิน ทุ่มบุคลากรและทุ่มเทเทคโลยีที่มีทั้งหมด เพื่อขึ้นไปเป็น "เจ้าพ่อดวงจันทร์" ก่อนประเทศอื่นๆ

          โดยเฉพาะขุมสมบัติด้านพลังงานในอนาคต เนื่องจากมีข้อมูลว่าดวงจันทร์คือแหล่งมหาศาลของ "แร่ฮีเลียม-3" (Helium-3) ธาตุตั้งต้นในการผลิตพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่มีคุณสมบัติไม่ก่อให้เกิดกัมมันตรังสี นักวิทยาศาสตร์บางรายวิเคราะห์ว่าพื้นผิวของดวงจันทร์มีแร่ตัวนี้อยู่มากมายขนาดใช้ได้นานถึง 1 หมื่นปีก็ไม่หมด !

          คำถามต่อไปคือ ใครมีสิทธิเป็นเจ้าของดวงจันทร์ และทรัพยากรบนนั้น


          ตั้งแต่ 40 ปีที่แล้ว "ยูเอ็น" หรือองค์การสหประชาชาติ พยายามจับประเทศต่างๆ ให้มาเซ็น "สนธิสัญญาดวงจันทร์" เพื่อทำข้อตกลงร่วมกันว่าใครมีสิทธิทำอะไรในดวงจันทร์บ้าง เพราะตามหลักการแล้วถือเป็นสมบัติของส่วนรวม ทุกประเทศมีสิทธิเท่ากัน แต่ปรากฏว่า จนถึงปัจจุบันมีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นที่ลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ แต่เป็นเพียงประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีเทคโนโลยีใดๆ จะเดินทางข้ามไปในอวกาศได้

          สรุปคือ ไม่มีประเทศยักษใหญ่ยอมลงนาม เพราะกลัวเสียโอกาสในการยึดครองดวงจันทร์ อเมริกาที่เคยแข่งขันกับรัสเซียอย่างเอาเป็นเอาตาย ล่าสุดปลายเดือนกันยายน 2560 ผู้นำ 2 ประเทศหันมาจับมือกันเตรียมสร้าง "สถานีอวกาศบนดวงจันทร์" เป็นแห่งแรก

          เพราะรู้ดีว่า "จีน" เอาจริง ภารกิจฉางเอ๋อไม่ธรรมดา ตอนนี้จีนมีเงินมากมาย และไม่มีกลุ่มเอ็นจีโอมาคัดค้านเรื่องงบประมาณด้วย


  
          หากอเมริกา รัสเซีย และยุโรปไม่จับมือกันให้แน่น เชื่อว่าไม่กี่ปีข้างหน้า ดวงจันทร์อาจกลายเป็นอาณานิคม "เหมืองขุดแร่" ของจีน...

รายงาน โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ