svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ผ่าระบบ "พลทหารรับใช้" จากนิยายถึงชีวิตจริง

จากคลิปดราม่าว่าด้วย "พลทหารเลี้ยงไก่" กับคลิปเปิดใจอดีตทหารเกณฑ์ที่บอกเล่าประสบการณ์การฝึกทหาร และความต้องการไปอยู่รับใช้ตามบ้านนาย คุณผู้ชมอาจจะสงสัยว่า ระบบแบบนี้ในปัจจุบันยังมีอยู่จริงหรือไม่ วิธีการเลือกทหารเกณฑ์ไปอยู่ตามบ้านนาย เขาทำกันอย่างไร และพลทหารเหล่านี้ได้อะไรตลอด 2 ปีที่ไปรับใช้นาย วันนี้ล่าความจริงมีคำตอบมาฝาก

ทหารเกณฑ์ที่ไปอยู่ตามบ้านผู้บังคับบัญชา เรียกภาษาทางการว่า "พลทหารประจำตัวผู้บังคับบัญชา" แต่เรียกง่ายๆ ในภาษาชาวบ้านว่า "พลทหารรับใช้" ถือเป็นวัฒนธรรมหนึ่งของกองทัพที่มีมาอย่างยาวนาน และเป็นที่รับรู้กันมาตลอด เห็นได้จากนวนิยายยอดนิยมที่ถูกทำเป็นละครโทรทัศน์ และเป็นภาพยนตร์ที่คนไทยรู้จักกันดี ก็คือเรื่อง "ผู้กองยอดรัก" ประพันธ์โดย คุณกาญจนา นาคนันทน์ เนื้อหาของเรื่องคือ "ไอ้พัน" พระเอกเป็นทหารเกณฑ์ แล้วไปเป็นทหารรับใช้ในบ้านผู้บังคับบัญชา กระทั่งได้พบรักกับนางเอกซึ่งเป็นทหารยศร้อยเอก ชื่อ "ผู้กองฉวีผ่อง" จากนั้นก็มีเรื่องราวชวนหัวมากมาย กระทั่งสุดท้ายก็จบแบบแฮปปี้เอนดิ้ง


นวนิยายเรื่องนี้ถูกทำเป็นละครโทรทัศน์ถึง 7 ครั้ง เวอร์ชั่นที่คนร่วมสมัยยังจำกันได้ดี ก็คือยุคที่ "หนุ่ม" ศรราม เทพพิทักษ์ แสดงร่วมกับ "ติ๊ก" กัญญารัตน์ จิรรัชกิจ เมื่อปี 2545 ออกอากาศทางช่อง 3ระบบ "พลทหารรับใช้" มีมานานมากแล้ว จนกลายเป็นวัฒนธรรมของกองทัพ หากย้อนกลับไปดูนวนิยายเรื่องผู้กองยอดรัก ถูกทำเป็นละครครั้งแรกตั้งปี 2515 แสดงให้เห็นว่าเรื่องราวเหล่านี้เป็นที่รับรู้กันมานานมากจริงๆ

ทหารรับใช้ ก็คือ "ทหารเกณฑ์" ที่ผ่านระบบเกณฑ์ทหาร ทั้งจับได้ "ใบแดง" หรือ "สมัครเข้าไป" นั่นแหละ ทหารเกณฑ์เหล่านี้เมื่อผ่านการฝึกละลายพฤติกรรมครบ 10 สัปดาห์ ก็จะเข้าไปประจำกองร้อยตามหน่วยที่ตัวเองต้องสังกัด เรียกว่า "ขึ้นกองร้อย" เมื่อขึ้นกองร้อยแล้ว ก็จะเป็นขั้นตอนของการถูกส่งไปอยู่ตามบ้านผู้บังคับบัญชา โดย "จ่ากองร้อย" จะสอบถามความสมัครใจก่อน โดย "จ่ากองร้อย" จะเลือกจากคนที่หน่วยก้านดี พูดจารู้เรื่อง ไม่มีประวัติอาชญากร และไม่มีพฤติกรรมสร้างปัญหาในกองร้อย พูดง่ายๆ คือ "นิสัยดี-ใช้ง่าย-ไร้ประวัติเสีย"


เมื่อได้พลทหารที่มีคุณสมบัติแบบนี้แล้ว ก็จะส่งไปประจำตามบ้านผู้บังคับบัญชาตามที่ขอมา มีอยู่ 2 ประเภท คือ


1.ผู้บังคับบัญชาที่มีบ้านอยู่ในหน่วยนั้นๆ เอง ก็จะได้ทำงานอยู่ในหน่วยทหาร ใกล้ๆ กองร้อยนั่นแหละ


2.ผู้บังคับบัญชาที่มีบ้านส่วนตัวอยู่นอกหน่วย หรือผู้บังคับบัญชาที่เกษียณไปแล้ว แต่หน่วยมีวัฒนธรรมดูแลนายจนตาย พลทหารกลุ่มนี้ก็จะถูกส่งไปอยู่ประจำตามบ้านนายนอกหน่วย ก็จะอยู่ไกลเพื่อนที่กองร้อยสักหน่อย เหมือนไปเป็นคนรับใช้ตามบ้านคนทั่วไป


ผ่าระบบ \"พลทหารรับใช้\" จากนิยายถึงชีวิตจริง




สมัยก่อนไม่มีระบบโควต้า ไม่มีระเบียบควบคุม ผู้บังคับบัญชาก็จะขอทหารรับใช้ทีละหลายๆ คน เช่น 2 คนบ้าง 3 คนบ้าง บางทีก็ 4 คนก็มี แต่ระยะหลังทางกองทัพตั้งกฎมาควบคุม แต่ละเหล่าทัพไม่เหมือนกัน เช่น ระดับ "พลเอก" จะได้ทหารรับใช้ 1 คน มากกว่านี้ไม่ได้
พลทหารที่ไปเป็น "ทหารรับใช้" ก็จะไปอยู่บ้านนาย กินนอนอยู่กับเขาเลย หน้าที่แต่ละวันก็เช่น ล้างรถ ทำความสะอาดบ้าน ตัดหญ้า ไปตลาด จ่ายกับข้าว ถ้า "นาย" ไม่มี "พลขับ" ก็อาจจะขับรถให้นายด้วย แต่ระยะหลังบางหน่วยกำหนดให้ "พลขับ" ต้องเป็นทหารประจำการที่ส่งไปจากหน่วยเท่านั้น ส่วนพวก "ทหารรับใช้" ก็จะทำงานอย่างอื่นไป เรียกว่า "รับใช้จริงๆ" และดูแลทั้งนาย ทั้งคุณนาย หรือภรรยาของนาย ตลอดจนลูกๆ ของนายในบ้านด้วย


ผ่าระบบ \"พลทหารรับใช้\" จากนิยายถึงชีวิตจริง




ส่วนกรณีของพลทหารเลี้ยงไก่ จากคลิปที่แชร์กันจนเป็นข่าวใหญ่ ถือว่าเป็น "ภารกิจพิเศษ" เรียกว่าแจ็คพ็อตจริงๆ ที่เจอนายเลี้ยงไก่ ก็เลยต้องดูแลไก่ให้นายด้วย ซึ่งบ้านอื่นก็อาจจะเลี้ยงอย่างอื่น ก็ต้องดูแลเหมือนกัน

เท่าที่ "ล่าความจริง" ได้พูดคุยกับทหารหน่วยต่างๆ พบว่า โดยมากทหารเกณฑ์ที่ไปอยู่บ้านนาย จะค่อนข้างสบายกว่าทหารเกณฑ์ที่ต้องอยู่กองร้อย ทั้งยังได้เบี้ยเลี้ยง เงินเดือนเต็ม ประมาณเดือนละ 10,000 บาท เพราะไม่ต้องถูกหักค่าอาหาร เรียกว่า "ค่าประกอบเลี้ยง" เหมือนพวกที่อยู่กองร้อย ซึ่งเมื่อหักแล้วจะเหลือแค่เดือนละ 5 พันกว่าบาทเท่านั้น และยังได้วันหยุด ที่เรียกว่า "ผลัดพัก" เหมือนทหารเกณฑ์ปกติด้วย เมื่อถึงช่วงพัก ลาหยุดกลับบ้าน นายก็จะให้เงินเป็นค่าเดินทางแถมให้อีก เมื่อเป็นแบบนี้หลายๆ หน่วยต้องบอกว่า "แย่งกันไปอยู่บ้านนาย" กันเลยทีเดียว
กรณีทหารเกณฑ์เลี้ยงไก่ หรือไปอยู่บ้านนายแล้วถูกซ้อม ถูกเตะ เหมือนที่เคยเป็นข่าวเมื่อหลายปีก่อน ก็ต้องถือว่าเคราะห์ร้าย ได้นายไม่ดี ซึ่งก็ต้องว่ากันเป็นกรณีๆ ไป

อดีตสัสดีที่เคยดูแลทหารเกณฑ์มาหลายสิบปี เล่าว่า ข่าวที่ออกมาเรื่องทหารเกณฑ์เลี้ยงไก่ เป็นเรื่องดราม่าเกินจริง เพราะจริงๆ แล้วไม่ได้ลำบากขนาดนั้น การไปอยู่บ้านนายเป็นเรื่องสบาย อยู่กองร้อยหนักกว่า ต้องตัดหญ้า พัฒนาหน่วย ขุดลอกคูคลอง หรือทำงานเอกสาร แต่ไปอยู่บ้านนายเหมือนได้พัก บางทีก็ไปเฝ้าสวน เฝ้าไร่ของนาย ดูแลพ่อแม่ของนายที่อยู่ในวัยชรา ส่วนที่บอกว่าต้องไปซักกางเกงใน ชุดชั้นในให้คุณนายด้วยนั้น เป็นแค่เรื่องเล่าปากต่อปาก ทุกวันนี้ไม่มีแล้ว

สำหรับเรื่องดีๆ ที่จะได้ตามมา จากการไปอยู่รับใช้ตามบ้านนาย ยุคนี้คงยากที่จะได้พบรักกับลูกสาวเจ้านายเหมือนในนิยาย "ผู้กองยอดรัก" แต่ถ้าคนไหนที่มีความประพฤติดีเยี่ยม ถูกใจนาย เมื่อปลดประจำการ นายก็จะบรรจุให้เป็นทหารจริงๆ มียศ มีตำแหน่ง มีเงินเดือนกิน สบายไป ถ้าแบบนี้ก็เรียกว่า "วิน-วิน" ทั้งสองฝ่าย


ผ่าระบบ \"พลทหารรับใช้\" จากนิยายถึงชีวิตจริง




นี่คือเรื่องราวของระบบ "พลทหารรับใช้" ที่คนในกองทัพบอกว่ามีมาตั้งแต่ยุคพระเจ้าเหา ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร ส่วนข่าวที่ออกมาเป็นแค่ดราม่า แต่เรื่องราวแบบนี้สังคมไทยยังจะยอมรับได้อยู่อีกหรือไม่ เป็นเรื่องที่คุณผู้ชมต้องพิจารณา และแสดงความเห็น