svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นักวิชาการชี้บ้านป่าแหว่งเหมือนระเบิดเวลาเสี่ยงไฟป่า-ดินถล่ม

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ จัดเสวนาเชิงวิชาการ ผลกระทบจากบ้านป่าแหว่ง สู่ระบบนิเวศน์ ชุมชน และสังคม นักวิชาการชี้พื้นที่ก่อสร้างเหมือนระเบิดเวลา เสี่ยงอันตรายจากไฟป่าและดินถล่ม ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในภาพรวม ระบุต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูไม่ต่ำกว่า 1.45 ล้านบาท และต้องใช้เวลานานกว่าจะกลับเป็นป่าสมบูรณ์ได้เหมือนเดิม ย้ำการก่อสร้างบ้านพักศาลขาดหลักธรรมาภิบาลอย่างชัดเจน

เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 พฤษภาคม 2561 ที่วัดล่ามช้าง เครือข่ายของคืนพื้นที่ป่าได้จัดเสวนาเชิงวิชาการ เรื่อง "ผลกระทบจากบ้านป่าแหว่ง สู่ระบบนิเวศน์ ชุมชน และสังคม" โดยมีนาย โชติพัฒน์ ศรีภักดีพงศ์เดช เครือข่ายวิศวกรรักษ์ป่า นายวสันต์ จอมภักดี คณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิง และสิ่งแวดล้อม นายจตุภูมิ มีเสนา หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มช. และนายสุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิ ชุมชนท้องถิ่น เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้


นาย โชติพัฒน์ ศรีภักดีพงศ์เดช เครือข่ายวิศวกรรักษ์ป่า กล่าวว่า โครงสร้างทางวิศวกรรมของบ้านพักข้าราชการตุลาการ หากมีคนเข้าไปอยู่จะเปรียบเหมือนระเบิดเวลาที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกเวลา เนื่องจากมีความเสี่ยงของพื้นที่มีความลาดชันสูง บริเวณก่อสร้างอยู่ในเขตพื้นที่ป่า ที่พร้อมจะเกิดฟ้าป่า น้ำหลาก ดินสไลด์ พื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงสูงมาก เนื่องจากมีการเปิดหน้าดินทั้งหมดออก ไม่มีรากต้นไม้ที่จะคอยยึดดินไว้ เมื่อดินเกิดการชุ่มน้ำมาก ไม่สามารถซึมลงใต้ดินได้แล้ว น้ำที่ไหลบริเวณหน้าดินไม่มีรากต้นไม้ยึดเกาะดินทำให้เกิดดินสไลด์ได้ ประกอบบ้านพักข้าราชการตุลาการ สร้างบนพื้นที่ลาดชันสูง ด้วยวิธีการวางฐานรากแผ่ลงไปบนชั้นดินที่ไม่มีรากต้นไม้ยึดเกาะดิน เมื่อฝนตกต่อเนื่องดินพร้อมที่จะเคลื่อนตัวไปง่าย ประกอบกับไม่มีป่าไม้อยู่ในบริเวณดังกล่าวเมื่อฝนตกลงจากภูเขาสูงจะเกิดน้ำป่าไหดมาบริเวณบ้านพักได้


นายวสันต์ จอมภักดี คณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิง และสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าได้มีการประชุมกันในสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาภาคเหนือ ซึ่งมีความเป็นห่วงในเรื่องของโครงการสร้างเชิงวิศวกรรม ที่เข้าไปก่อสร้างในพื้นที่ลาดชันสูง มีการเปิดหน้าดินจนทำให้ให้มีความเสี่ยงของการพังทลายได้โดยง่าย ซึ่งการเปิดหน้าดินออกไปเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบถึงระบบนิเวศน์โดยรวมไปถึงป่าชั้นใน พื้นที่ดังกล่าวไม่เหมาะที่จะใช้เป็นที่อยู่อาศัยอย่างยิ่ง โครงสร้างที่สังเกตเห็นได้ในปัจจุบันไม่หลงเหลือป่าอยู่ในพื้นที่ การเปลี่ยนสภาพป่าในลักษณะเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ กระทบต่อวิถีชีวิตท้องถิ่น รวมไปถึงกระทบต่อจิตวิญญาณของชาวล้านนาในพื้นที่

นายจตุภูมิ มีเสนา หน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า มช. กล่าวว่า การฟื้นฟูพื้นที่ป่าต้องใช้ระยะเวลานานในการฟื้นฟู จากการวิจัยพบว่าการฟื้นฟูพื้นที่ป่าจะต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูประมาณ 20,000-25,000 บาท/ไร่ ซึ่งต้องทำการผลิตกล้าไม้ สำรวจพื้นที่ ดูแลแปลง ใส่ปุ๋ย สำหรับพื้นที่ในบริเวณบ้านพักตุลาการที่ต้องทำการฟื้นฟูประมาณ 58 ไร่ ใช้งบประมาณ 1.45 ล้านบาท อย่างไรก็ตามยังไม่รวมค่าเสียหายที่เกิดจากการขุดหน้าที่ออกไป ซึ่งกว่าที่พื้นที่ดังกล่าวจะสะสมธาตุอาหารที่จำเป็นต่อต้นไม้ต้องใช้เวลาประมาณ 80 ปี ซึ่งขณะนี้ได้สูญเสียไปแล้ว จริงแล้วพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมในทางกฎหมายจะต้องมีต้นไม่อยู่ 25 -40 ต้นแต่พื้นที่ดังกล่าวมีต้นไม้อยู่เยอะกว่านี้แน่นอน พื้นที่ดังกล่าวจึงไม่ใช่พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมอย่างแน่นอน จริงๆ แล้วหน่วยงานฟื้นฟูป่า จะต้องเข้ามาเป็นหน่วยงานท้ายๆ ที่จะเข้ามาฟื้นฟู ในความเห็นส่วนตัว การฟื้นฟูป่าที่จะให้กลับไปเหมือนเดิมจะใช้เวลานานมาก ปรับพื้นที่หน้าดินในลักษณะที่ดำเนินการอยู่ การฟื้นฟูอาจจะไม่สามารถกลับมาเป็นป่าได้เหมือนเดิมในระยะเวลาอันสั้น หรือาจจะไม่ได้เห็นป่ากลับมาเหมือนเดิมในช่วงชีวิตของตนเอง แต่หากจะดำเนินการฟื้นฟูก็ควรจะเร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้เป็นต้นไป หน่วยงานวิจับฟื้นฟูป่า พร้อมที่จะเข้ามาช่วยให้คำแนะนำและปรึกษาในการฟื้นฟูพื้นที่


นายสุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิ ชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า การเข้าไปก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการในบริเวณดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม เรื่องการตีความของกฎหมายว่าเป็นที่ราชพัสดุหรือเป็นพื้นที่ป่า ซึ่งในแง่ของกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง ต้องมาพิจารณากันอีกครั้งเพื่อความชัดเจนของพื้นที่ เนื่องจากมีสถานะทางกฎหมายทับซ้อนกัน 2-3 ข้อกฎหมาย ต้องมาตีความประกับกันโดยใช้กฎหมายหลายตัวเข้ามาตีความ การที่หน่วยงานภาครัฐเข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าว เพื่อปลุกสร้างอาคารที่พักอาศัย และบ้านพักข้าราชการ ซึ่งไม่คำนึงถึงความเสียหายของสภาพแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ นอกจากนั้นการตัดสินใจเข้าไปก่อสร้างบ้านพักในบริเวณดังกล่าวยังขาดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการ พื้นที่ จึงทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่มีความโปร่งใสในการดำเนินการ ตรวจสอบไม่ได้ ชาวบ้านไมได้เข้าไปมีส่วนร่วม การก่อสร้างไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ต้องสูญเสียไป



นักวิชาการชี้บ้านป่าแหว่งเหมือนระเบิดเวลาเสี่ยงไฟป่า-ดินถล่ม

นักวิชาการชี้บ้านป่าแหว่งเหมือนระเบิดเวลาเสี่ยงไฟป่า-ดินถล่ม

นักวิชาการชี้บ้านป่าแหว่งเหมือนระเบิดเวลาเสี่ยงไฟป่า-ดินถล่ม

นักวิชาการชี้บ้านป่าแหว่งเหมือนระเบิดเวลาเสี่ยงไฟป่า-ดินถล่ม

นักวิชาการชี้บ้านป่าแหว่งเหมือนระเบิดเวลาเสี่ยงไฟป่า-ดินถล่ม