นางดี ซุ้มวุ่ง อายุ 62 ปี นางรัชนี ดวงจินดา อายุ 58 ปี และนายสมพล ชัยปัญญา อายุ 52 ปี ลูกจ้างกรีดยางของ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ซึงตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา รวมทั้งลูกจ้างรายอื่นๆของแปลงยางเดียวกัน รวม 22 ครอบครัว ต้องกลายเป็นคนตกงานอย่างกะทันหัน หลังรัฐบาลมีนโยบายควบคุมปริมาณผลผลิตยาง เพื่อลดปริมาณผลผลิต โดยให้หยุดกรีดยางในพื้นที่ของรัฐ จำนวน 120,000 ไร่
ประกอบด้วย พื้นที่ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กรมวิชาการการเกษตร และองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) ยกเว้นพื้นที่สวนยางที่ใช้ในการวิจัย เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคมมีนาคม 2561 ทำให้ทั้งหมดต้องหยุดกรีดยางในทันที นับจากวันที่ 1 ม.ค.61 เป็นต้นมา และต้องเก็บภาชนะรองรับน้ำยางออกจากแปลง เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกจ้างลักลอบกรีด ซึ่งจะมีความผิดในข้อหาลักทรัพย์ของทางราชการ
โดยตัวแทนลูกจ้างกรีดยางของ กยท.กล่าวว่า ลูกจ้างกรีดยางของ กยท.ส่วนใหญ่อายุมาก ทำงานมาประมาณ 20 30 ปี ทั้งหมด 22 ครอบครัว รับผิดชอบครอบครัวละ 10 ไร่ ต้องกลายเป็นคนตกงานทันทีตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.61 ที่ผ่านมา โดยที่ยังไม่ได้รับเงินชดเชยแต่อย่างใด ก่อนหน้านี้มีคนมาบอกว่าจะมีการจ่ายเงินชดเชยให้ครอบครัวละ 4,000 บาทต่อเดือน แต่ยังไม่มีความชัดเจน ถึงแม้ว่าได้จริงก็คงไม่พอเลี้ยงครอบครัว เพราะจากเดิมเคยได้มีรายได้จากกรีดยางเดือนละประมาณ 7,000 9,000 บาท ประกอบกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก
ขณะนี้คนงานทั้งหมดได้กลับบ้านไปหางานรับจ้างทั่วไป เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัวประทังชีวิต เช่น แบกไม้ยาง บางส่วนไปหายางแปลงอื่นที่ถูกปล่อยรกร้างกรีดได้ไม่กี่ต้นก็ต้องกรีด เพราะหายาก ไม่มีหน้ายางใครว่าง เพราะส่วนใหญ่มีลูกจ้างอยู่แล้ว ส่วนพวกที่ยังอยู่เฝ้าสวน เพราะอายุมากแล้วไปหางานอื่นทำไม่ได้ มีคนพิการ ลูกหลานที่ต้องดูแล
เบื้องต้นทาง กยท.ให้หยุดกรีดยางก่อนเป็นเวลา 3 เดือน แต่หลังจากครบ3เดือนแล้ว หากราคายางยังไม่ดีขึ้น อาจจะต้องหยุดกรีดออกไปอีกอย่างไม่มีกำหนด