svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

แกะรอย... ชรบ.เป็นใคร?

จากเหตุการณ์ยิง นายศรชัย สถิตย์รักษ์ดำรง ชายหนุ่มอายุ 35 ปี ชาวต.ท่าก๊อ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เขาไปทำงานระยอง กลับมาเที่ยวปีใหม่และกำลังจะกลับไปทำงาน แต่เมื่อผ่านบริเวณจุดบริการประชาชน บ้านแม่ต๋ำ ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ในคืนวันที่ 2 มกราคม 2561 กระสุนปริศนา ยิงมาจากด่านด้านหลังฝั่งที่เจ้าหน้าที่ยืนอยู่ กระสุนเจาะเข้าที่ศรีษะ 3 นัด ศรชัย เสียชีวิตคาที่


ตำรวจแม่สรวย ยืนยันว่าศาลออกหมายจับและจับกุม วุฒิชัย อินใจ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านป่าเหียง หมู่ 14 ต.ท่าก๊อ อ.แม่สรวย ซึ่งเป็นชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ. ประจำด่านตรวจบ้านแม่ต๋ำ พร้อมตั้งข้อหาฆ่าผู้อื่นตายโดยเจตนา พร้อมควบคุมตัววุฒิชัยไปส่งฝากขังที่ศาล จ.เชียงราย ด้านผู้ต้องหาให้การภาคเสธ

สังคม อาจจะยังไม่ทราบว่า ชรบ.เป็นใคร มาจากไหน ทำหน้าที่อะไร พบปืนได้หรือไม่ ลองไปไล่เรียงกัน

ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หมายความถึง ราษฎรอาสาสมัครในพื้นที่ ที่ผ่านการฝึกอบรมตามหลักสูตรชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากนายอำเภอ ให้ปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน และให้เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ เรียกโดยย่อว่า "ชรบ."

ชรบ.ตั้งขึ้นโดยอาศัยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการช่วยเหลือเจ้าพนักงานของหน่วยกำลังคุ้มครองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน พ.ศ.2551 ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 20 (แก้ไขเพิ่มเติม) พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 (มาตรา 94, 95 และ 102) และพระราชบัญญัติจัดระเบียบบริหารหมู่บ้านอาสาพัฒนาและป้องกันตนเอง พ.ศ.2522 (มาตรา 16 และ 18)

เหตุผลต้องมี ชรบ. เนื่องจากฝ่ายปกครองที่ทำงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดอื่นๆ ที่มีสถานการณ์ด้านความมั่นคงและความไม่สงบเรียบร้อย ต้องการให้ราษฎรเข้ามามีส่วนร่วมปกป้องคุ้มครองมาตุภูมิ ดังนั้น จังหวัดและอำเภอ จึงมีแนวคิดจัดตั้งชรบ.เพื่อปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยภายในหมู่บ้าน

คุณสมบัติ ชรบ.
1.บุคคลที่มีสัญชาติไทย
2.มีสุขภาพแข็งแรง
3.มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ในหมู่บ้านนั้นไม่น้อยกว่า 3 เดือน
4.เลื่อมใสในระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข
5.เป็นผู้มีความประพฤติดี


สายการบังคับบัญชา

อำเภอ
กองพันหน่วยรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน
นายอำเภอเป็นผู้บังคับกองพันฯ ปลัดอำเภอ นายตำรวจชั้นสัญญาบัตร และข้าราชการในพื้นที่ตามนายอำเภอแต่งตั้งเป็นรองผู้บังคับกองพันฯ ฝ่ายยุทธการและการข่าว ฝ่ายกิจกรรมมวลชน ฝ่ายกำลังพลและส่งกำลังบำรุง และฝ่ายสื่อสารและงบประมาณ

ตำบล
กองร้อย ชรบ.
ปลัดอำเภอผู้รับผิดชอบประจำตำบล เป็นผู้บังคับกองร้อย มีข้าราชการอื่นตามที่นายอำเภอแต่งตั้งเป็นรองผู้บังคับกองร้อย ฝ่ายยุทธการและการข่าว ฝ่ายกิจกรรมมวลชน ฝ่ายกำลังพลและส่งกำลังบำรุง และฝ่ายสื่อสารและงบประมาณ โดยมีกำนันเป็นผู้ช่วยผู้บังคับกองร้อย


หมู่บ้าน
หมวด ชรบ.
ผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้บังคับหมวด ทหาร ตำรวจ หรือสมาชิก อส.จำนวน 2 นาย เป็นเจ้าหน้าที่
หมวด ชรบ. แบ่งการปกครองบังคับบัญชา อย่างน้อย 2 หมู่ๆ ละไม่น้อยกว่า 7 คน ไม่เกิน 15 คน ตามความเหมาะสม เรียกว่า ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านที่ 1 ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านที่ 2 ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านที่ 3

มีผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้บังคับหมู่


อำนาจหน้าที่ของ ชรบ.

1.อยู่เวรยามรักษาความสงบเรียบร้อยในหมู่บ้าน
2.ตรวจตระเวนรักษาความสงบเรียบร้อย
3.สืบสวนหาข่าว
4.เฝ้าระวังสถานการณ์สำคัญ
5.รายงานการเกิดเหตุหรือภัยต่างๆ
6.ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา
7.จับกุมผู้กระทำความผิดซึ่งหน้า ตามป.วิอาญาฯ
8.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
9.ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย


อาวุธ

อาวุธที่เราเห็นชรบ.ถือบ่อยคือ ปืนลูกซอง 5 นัด
พกได้ตามที่กฎหมายกำหนด ตามพ.ร.บ.อาวุธปืนไว้ในครอบครอง ยกเว้นในมาตรา 8 คือ ประชาชนผู้ได้รับมอบให้มีและใช้ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (1) (ง) ซึ่งอยู่ในระหว่างการช่วยเหลือราชการและมีเหตุจำเป็นต้องมี และใช้อาวุธปืนในการนั้น

ปืนตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง (1) (ง) คือ ปืนของราชการทหารและตำรวจหรือหน่วยราชการ มอบให้ประชาชนมีและใช้เพื่อช่วยเหลือราชการของทหารและตำรวจหรือของหน่วยราชการ

ชรบ.จะใช้ปืนราชการ หรือ มอบปืนให้ราชการ แล้วเบิกมาใช้เท่านั้น การใช้ปืนยิงผู้อื่นถึงแก่ความตายถือว่าผิดกฎหมายอาญา คนยิงต้องได้รับโทษ