และคนที่จะเป็น "ริกเกอร์" ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการเรียนการฝึกต่างๆ สำคัญที่สุดคือต้องละเอียดรอบคอบมากๆ เพราะเขาคือผู้กุมชะตาของนักกระโดดร่ม วันนี้ คุณอัญชลี อริยกิจเจริญ จะพาไปดูหลักสูตร "ริกเกอร์" กันค่ะ ติดตามได้จากรายงานพิเศษ
ความเป็นมาของการกระโดดร่มในประเทศไทย เริ่มขึ้นในปี 2495 โดยกรมตำรวจในยุคที่มี พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดี ได้จัดตั้ง "หน่วยส่งทางอากาศ" หรือ "ตำรวจพลร่ม" ขึ้นเป็นหน่วยแรกที่เขาเอราวัณ จังหวัดลพบุรี โดยใช้ชื่อว่า "โรงเรียนการฝึกอาวุธพิเศษ" จากนั้น 1 ปีถัดมา กองทัพบกได้รับโอน "โรงเรียนการฝึกอาวุธพิเศษ" จากกรมตำรวจ แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ศูนย์การฝึกทหารพลร่ม" ซึ่งก็คือที่ตั้ง "ศูนย์สงครามพิเศษ" ในปัจจุบัน ส่วนตำรวจก็ย้ายไปตั้งหน่วยตำรวจพลร่ม ที่ค่ายนเรศวร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แทน
ต่อมาในปี 2505 กองร้อยพลาธิการส่งกำลังทางอากาศ ได้เปิดทำการฝึกการกระโดดร่มแบบกระตุกเอง หรือที่เรียกว่า "ดิ่งพสุธา" เป็นครั้งแรกในเมืองไทย โดยมีชาวอเมริกันเป็นครูฝึก และเมื่อมีการกระโดดร่ม ก็ต้องมีเจ้าหน้าที่พับร่ม หรือ "ริกเกอร์" จึงได้เปิดรับสมัครกำลังพลทุกเหล่าของกองทัพบก ใครที่เข้ารับการศึกษาอบรม จะต้องเปลี่ยนเหล่ามาเป็น "พลาธิการ" และหลักสูตร "ริกเกอร์" รุ่นที่ 1 ก็เริ่มขึ้นในปี 2509
เหตุที่ต้องมี "ริกเกอร์" ก็เพื่อให้มีความรู้ความสามารถในการพับร่ม การซ่อมบำรุงและการส่งกำลังทางอากาศ ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยง ลดอันตรายให้กับกำลังพลหน่วยใช้ร่มของกองทัพบกด้วย
คุณสมบัติของผู้เข้าเรียน จะต้องสำเร็จหลักสูตรส่งทางอากาศมาแล้ว เป็นเจ้าหน้าที่พับร่ม เจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุง และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ที่สำคัญต้องมีสุขภาพแข็งแรง ผ่านการทดสอบร่างกายตามเกณฑ์ของกองทัพบก และชั้นยศไม่เกินร้อยเอก
สำหรับระยะเวลาในการเรียน 8 สัปดาห์ หรือ 2 เดือนนั้น จะเรียนใน 4 เรื่องสำคัญ คือ การพับร่ม โดยเฉพาะร่มบุคคลหลัก หรือร่มกลม , ร่มช่วย , ร่มส่งกำลังทางอากาศ และร่มยุทธวิธีพิเศษ หรือร่มเหลี่ยม อย่างภาพที่เห็นนี้คือการพับร่มกลม แรกๆ นักเรียนริกเกอร์จะมีเวลาพับ 1 ชั่วโมง แต่เมื่อทำจนชำนาญ จะใช้เวลาประมาณ 15 นาที
ถัดมาเป็นการซ่อมบำรุง แม้จะไม่ถึงขั้นตัดเย็บได้เหมือนกับพนักงานผลิตร่ม แต่หากร่มชำรุดในขั้นต้น ก็ต้องซ่อมให้สามารถใช้งานได้ เช่น การชุน การปะร่ม
ส่วนการส่งกำลังทางอากาศ เป็นการส่งสิ่งอุปกรณ์ที่จำเป็น รวมถึงเครื่องมือแพทย์ และยุทโธปกรณ์ที่ใช้ในการรบ โดยใช้ร่มส่งกำลังชนิดต่างๆ สุดท้ายคือ การตรวจการแต่งร่ม หรือ ริกเกอร์ เช็ค (rigger check) ซึ่งต้องตรวจร่มทุกชนิด รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ทั้งขอเกาะปลดเร็ว ชุดสายรัดตัว
ผู้พับร่ม จะต้องเขียนชื่อตัวเองลงในสมุดประจำร่มนั้นๆ ทุกครั้ง เพราะเมื่อทำการทดสอบแล้วเกิดข้อผิดพลาด จะได้รู้ว่าใครเป็นคนทำ
สำหรับร่มหลัก รับน้ำหนักได้ 300 ปอนด์ หรือประมาณ 136 กิโลกรัม ร่มช่วย รับน้ำหนักได้ ไม่เกิน 113 กิโลกรัม เมื่อทำการทดสอบแล้ว ร่มหลักจะใช้เวลากาง 4 วินาที ร่มช่วยใช้เวลา 2 วินาที ปัจจุบันนอกจากจะใช้คนทดสอบแล้ว ยังใช้ลูกปูนขนาด 25 กิโลกรัมด้วย เพื่อให้สามารถทดสอบร่มในปริมาณที่มากขึ้นได้
สำหรับสัญลักษณ์ของ "ริกเกอร์ เช็ค" จะมีหมวกแก๊ปสีแดง ซึ่งหมายถึง เลือดเนื้อของนักกระโดดร่มที่ต้องรักษาไว้ และเครื่องหมายปีกสีเงิน คือผู้ที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องร่มเป็นอย่างดี
แม้ว่า ทหารเหล่าพลาธิการจะไม่ใช่กำลังรบหลัก แต่กองทัพก็ขาดพวกเขาไม่ได้ เจ้าหน้าที่ริกเกอร์จึงภาคภูมิใจในภารกิจและศักดิ์ศรีของตนเอง ที่อย่างน้อยก็ทำให้กำลังพลไม่บาดเจ็บล้มตาย หากมีการใช้ร่มเกิดขึ้น