svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"โรงไฟฟ้าขยะ" แก้ปัญหาขยะ หรือเพิ่มมลพิษ ?

จนถึงเวลานี้ยังไม่สามารถหาวิธีการกำจัดขยะที่กำลังมีมากขึ้น อย่างไร้ข้อถกเถียงได้ แม้จะมีความพยายามณรงค์ให้ประชาชนแยกขยะ เพื่อลดจำนวนขยะแต่ก็ดูเหมือนไม่ประสบความสำเร็จ

สิ่งที่รัฐบาลคสช.ทำเพื่อแก้ปัญหาขยะก็คือการละเว้นกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อให้โรงไฟฟ้าขยะเกิดขึ้น แต่สิ่งที่ยังคงเป็นคำถามคือว่าจะเปลี่ยนขยะซึ่งเป็นสิ่งปฏิกูลอยู่แล้วให้กลายเป็นมลพิษซ้ำเติมหรือไม่
ผมได้มีโอกาส ติดตามปลัดกระทรวงพลังงานเข้าไปดูการประกอบกิจการของ บริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด โรงไฟฟ้าขยะ ที่บ่อขยะแพรกษาใหม่ จ.สมุทรปราการ ได้พบกับ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด ที่ชี้ให้ดูว่า ปล่องควันของโรงไฟฟ้าขยะชุมชนแพรกษาใหม่ ไม่มีควันออกมา แม้กำลังทำการเผาไหม้เชื้อเพลิง และยืนยันว่าโรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้มีเทคโนโลยีในการควบคุมมลพิษและสารเคมี รวมถึงขี้เถ้า ที่เรียกว่า Flue Gas Cleaning นำเข้าจากประเทศเยอรมนี ช่วยป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมต่อชุมชนโดยรอบ


โรงไฟฟ้าขยะชุมชนแพรกษาใหม่ มีเนื้อที่ทั้ง 320 ไร่ อยู่ติดกับบ่อขยะแพรกษาใหม่ขนาดใหญ่ ที่ไฟไหม้เป็นประจำทุกปี
ในทุกๆวันขยะกองโตเหล่านี้ จะถูกลำเลียงเข้าเครื่องคัดแยกขยะของโรงไฟฟ้า
ขยะทั้งหมดสามารถเผาไหม้เป็นเชื้อเพลิงได้ เพียงร้อยละ 60 เรียกว่าเชื้อเพลิง RDF ส่วนที่เหลืออีก ร้อยละ 30 เป็นจุลินทรีย์ที่ย่อยสลายเอง หรือนำไปทำปุ๋ย อีกร้อยละ 10 เป็นขยะรีไซเคิลที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่
ขยะที่กลายเป็นเชื้อเพลิง RDF จะนำไปเผาไหม้ เป็นพลังงานความร้อน สู่กระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า
โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีกำลังการผลิต 9.9 MW แต่เซ็นสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้านครหลวง 8 MW
จำนวนขยะที่มีปริมาณมาก ทำให้บริษัทคิดสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มอีกถึง 3 โรงภายใน 3 ปี ข้างหน้าที่นี่
" ขยะ 2,000 ตันในพื้นที่ของจังหวัดสมุทรปราการถูกนำมาทิ้งที่บ่อขยะแพรกษาใหม่ทับถมจนกลายเป็นภูเขา ตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมายังไม่มีวิธีการกำจัดขนะที่ชัดเจน จนกระทั่ง ปี 2557 มีโรงไฟฟ้าขยะเกิดขึ้น โดยมีศักยภาพในการกำจัดขยะจำนวน 500 ตันต่อวันเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า แต่ยังคงเกิดคำถามว่า จะเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นมลพิษซ้ำเติมชุมชนหรือไม่"
ในงานเสวนาของกรีนพีซเมื่อเร็วๆนี้ เพื่ออัพเดทสถานการณ์มลพิษ ระบุว่า การเผ่าที่โล่ง โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าขยะ เป็นตัวการใหญ่ปล่อยมลพิษ เถ้าฝุ่นขนาด 2.5 ไมครอน ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของเส้นผมถึง 10 เท่า ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจและเป็นสารก่อมะเร็ง
แต่ปลัดกระทรวงกระพลังงาน กลับมีความเห็นที่ตรงข้าม เขาเชื่อว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีคุณภาพสูงได้รับการยอมรับในระดับสากล และผู้ประกอบการก็ยอมลงทุนติดตั้ง สามารถควบคุมมลพิษได้ไม่ให้เกินเกณฑ์มาตรฐานได้ ขณะเดียวกันโรงไฟฟ้าขยะก็นับเป็นเครื่องมือที่ดีและคุ้มค่าที่สุดให้การกำจัดขยะ
ย้อนไปก่อนปี 2557 ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อีสเทิร์น เอเนอร์จี้ พลัส จำกัด ยอมรับว่านักลงทุนคนก่อนที่พยายามเข้าทำธุรกิจโรงไฟฟ้าขยะเหมือนกันถูกชุมชนต่อต้าน และร้องเรียนด้วยกังวลปัญหามลพิษ แต่เขาใช้ยุทธศาสตร์มวลชนสัมพันธ์ จิตอาสาฟื้นฟูทัศนียภาพรอบกองขยะให้สวยงามจนชาวบ้านยอมรับ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ไม่ทำรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพราะโรงไฟฟ้าขยะได้รับการยกเว้นจากรัฐบาล คสช. โดยให้ใช้รายการตรวจสอบด้านสิ่งแวดล้อม หรือ Code of Practice แทน
ภาคประชาสังคมเห็นว่าเป็นการตรวจสอบที่ยังมีหลายช่องโหว่ อย่างเช่นขาดการติดตามตรวจสอบสารอันตราย ไม่มีการตั้งค่ามาตรฐานสารพิษ ไม่บอกวิธีการจัดการเมื่ออุปกรณ์บำบัดมลพิษผิดปกติ และไม่มีการติดตามผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน
ที่สุดแล้ว โรงไฟฟ้าขยะแห่งนี้จะเป็นทางออกในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน หรือเป็นการซ้ำเติมปัญหามลภาวะเรื้อรังในกองขยะ คงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูกันต่อไป