ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระจาก จ.ชลบุรี และเครือข่ายเพื่อนตะวันออก วาระเปลี่ยนตะวันออก ระบุว่า อุตสาหกรรมหนักเริ่มเข้าสู่ภาคตะวันออกตั้งแต่ปี 2504 โดยที่ยังไม่มีการพูดถึงการจัดทำและพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งปัจจุบันช่องโหว่และกลไกของอีไอเอ กลายเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง ให้ผู้ประกอบการสามารถก่อสร้างโรงงานได้เท่านั้น บางพื้นที่ปัญหารู้เฉพาะกลุ่มผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ที่พิจารณาก็ลงพื้นที่บางโครงการแบบผิวเผิน ควรมีหน่วยงานมาดูแลบริษัทที่ปรึกษาการจัดทำอีไอเอโดยเฉพาะ และมี คชก.ภาคประชาชนร่วมด้วย
ทั้งนี้ มีการนำเสนอปัญหาในพื้นที่ จ.สระแก้ว เช่น กรณีโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวล ขนาด 60 เมกกะวัตต์ ในพื้่นที่ ต.วังใหม่ อ.วังสมบูรณ์ หรือ ปัญหาบ่อขยะพิษในพื้นที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ,ปัญหาการคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดฉะเชิงเทรา และปัญหาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ในพื้นที่ จ.ระยอง โดยส่วนใหญ่เสนอปัญหาจากกระบวนการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งบางพื้นที่มีการจัดทำถึง 4 ครั้ง แต่ก็ยังมีการเปิดโอกาสให้แก้และจัดทำใหม่ได้ตลอดเวลา ควรมีระยะเวลาสิ้นสุด รวมทั้งช่วยกันระดมปัญหาและข้อเสนอ อันเกี่ยวเนื่องกับการจัดทำอีไอเอ อย่างรอบด้าน โดยส่วนใหญ่ต้องการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) ในอนาคต เพื่อพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ก่อนเสนอโครงการไปยังพื้นที่ต่าง ๆ
นายไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย ระบุว่า หลักการของอีไอเอ คือ หลักการป้องกันผลกระทบไม่ให้เกิดขึ้น เมื่อเราปฏิเสธการลงทุนไม่ได้ และเพื่อป้องกันและเป็นหลักประกันไปสู่คนรุ่นหลัง แต่กลายเป็นว่า กฏหมายที่ออกแบบมา กลายเป็นเราอนุญาตให้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น การประเมินผลกระทบเฉพาะโครงการ ไม่เพียงพออีกแล้ว ควรมีการประเมินทั้งระบบ พื้นที่เกษตร อุตสาหกรรม และอาหารปลอดภัย ควรเป็นอย่างไร ในอนาคตควรเป็นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเชิงยุทธศาสตร์ กิจกรรมหรือโครงการควรไปในทิศทางไหน เหมาะสมหรือไม่ เวลาจะทำโครงการจะต้องตรวจสอบก่อน และเป็นหลักการใหม่ที่ควรจะผลักดันให้ได้ เพื่อการปฏิรูปทรัพยากรภายใต้หลักการจัดการยุทธศาสตร์
" ส่วนเรื่องการประเมินโครงการ และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ต่อไปจะต้องตัด EIA ออกไปได้แล้ว เพราะต่อไปทุกโครงการต้องประเมินสุขภาพด้วย และต้องประเมินทุกโครงการ เพราะทุกวันนี้ มีการหลบเลี่ยงหลายอย่าง เช่น โรงไฟฟ้าชีวมวล ก็ใช้วิธีหลบเลี่ยงโดยเสนอโครงการแค่ 9.9 เมกกะวัตต์ เพื่อเลี่ยงการทำอีไอเอ หรือคอนโด ก็เสนอโครงการแค่ 99 ห้อง เพื่อเลี่ยงทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น EHIA ในอนาคต จะต้องแยกระหว่างผู้จ้างและบริษัทประเมินผลกระทบฯ ต้องไปขึ้นบัญชีไว้ และไม่มีสิทธิ์เลือก โดยมีหน่วยงานของรัฐเป็นผู้เลือกและแยกกันอย่างเป็นอิสระ รวมทั้งมีหน่วยงานอิสระที่ไม่ใช่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อีกต่อไป " นายไพโรจน์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม การเปิดเวทีดังกล่าว ถือเป็นการเปิดเวทีครั้งที่ 2 หลังจากมีการเปิดเวทีเพื่อระดมความคิดเห็นแล้วในพื้นที่ภาคใต้ ,ภาคตะวันออก หลังจากนั้นจะมีการเปิดเวทีในพื้นที่ภาคอีสาน และภาคเหนือ เพื่อรวบรวมข้อมูลปัญหาและข้อเสนอ สำหรับนำมายกร่างกฏหมายเกี่ยวกับการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฯ เพื่อเสนอร่างให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา และประกาศเป็นกฏหมาย ภายหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้แล้วต่อไป