svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ทีวี HDR เทคโนโลยีใหม่เหนือกว่า 4K

พามาทำความรู้จักเทคโนโลยีในแวงวงการโทรทัศน์ ก่อนนี้มี "เอชดี" มี "3ดี" แล้วก็มี "4เค" กันมาแล้ว ถึงตอนนี้มีศัพท์ใหม่โผล่มาอีกแล้วนั่นคือ "อัลตร้า เอชดี พรีเมียม" หรือ "เอชดีอาร์" ที่ผู้ผลิตทุกรายตั้งแต่ซัมซุง, แอลจี, โซนี่, พานาโซนิค เรื่อยไปจนถึงทีซีแอล ถือเป็นมาตรฐานการผลิตแล้ว เลยถึงเวลาที่ต้องมาทำความเข้าใจกัน

เทคโนโลยี "เอชดีอาร์" (HDR) นั้นหลายคนอาจรู้จักกันว่าเป็นฟีเจอร์สำหรับอวดอ้างความสามารถของกล้องในสมาร์ทโฟนหรือกล้องถ่ายภาพดิจิทัล ซึ่งมาจากคำว่า "ไฮ ไดนามิก เรนจ์"
เทคโนโลยี "เอชดีอาร์" นั้น ไม่ใช่แค่มีพิกเซลมากกว่า แต่เป็นพิกเซลที่ดีกว่าอีกด้วย

ทีวี HDR เทคโนโลยีใหม่เหนือกว่า 4K


เทคโนโลยี "4เค" นั้น ให้ความสำคัญไปที่ความละเอียดของเม็ดสีหรือพิกเซลในการแสดงภาพ โดยอาศัยความเป็นจริงที่ว่า เม็ดสีที่ละเอียดมากขึ้นย่อมแสดงผลภาพได้ดีและละเอียดขึ้น แต่ "เอชดีอาร์" ไปไกลกว่าการมีพิกเซลจำนวนมากเท่ากับหรือเหนือกว่า 4เค ด้วยการขยาย "เรนจ์"

ทีวี HDR เทคโนโลยีใหม่เหนือกว่า 4K


ดังนั้นภาพที่มีความละเอียดระดับ 4เค หรือเกินกว่า ที่มีรายละเอียดและความคมชัดรวมถึงสีสันที่เพิ่มมากขึ้นกว่าโทรทัศน์ 4เค มาก อาจเรียกได้ว่า "เอชดีอาร์" ก็คือ 4เค แต่โทรทัศน์ 4เค ไม่ได้เป็นเอชดีอาร์ทุกเครื่อง ถึงได้เป็นเรื่องที่ทำให้ผู้ผลิตซึ่งรวมตัวกันเป็นพันธมิตรทางเทคโนโลยีในชื่อ "ยูเอชดี อไลแอนซ์" ต้องจัดทำมาตรฐานขึ้นมา สำหรับโทรทัศน์ที่จะทำออกมาขายทุกเครื่องที่ต้องการติดโลโก้ "อัลตร้าเอชดี พรีเมียม" ที่รับประกันการเป็น "เอชดีอาร์"แต่เทคโนโลยีที่จะทำให้ได้ภาพระดับเอชดีอาร์ ขึ้นอยู่กับการคิดค้นพัฒนาของผู้ผลิตแต่ละราย ขนาดทีวียี่ห้อแอลจี หรือ ซัมซุง ก็มีเทคโนโลยีที่ต่างกัน

ทีวี HDR เทคโนโลยีใหม่เหนือกว่า 4K


ทีวีเอชดีอาร์ของแอลจีนั้นใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า "โอเลด" (ย่อมาจาก "ออร์แกนิก ไลต์-อีมิตติ้ง ไดโอด") ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้แผ่นฟิล์มคาร์บอนเป็นที่ทำให้แผงจอแสดงภาพสามารถปล่อยแสงออกมาได้ด้วยตัวเองเมื่อมีการผ่านกระแสไฟฟ้าเข้าไป ทำให้เครื่องรับของแอลจีไม่จำเป็นต้องใช้แสงแบ๊กไลต์เหมือนเจ้าอื่นๆ ข้อดีของ "โอเลดทีวี" คือการได้สีดำที่แทบจะสมบูรณ์แบบ แล้วก็ทำให้ค่า ไดนามิกเรนจ์ของภาพที่แสดงกว้างกว่าปกติมาก
ส่วนซัมซุงใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า "ควอนตัมดอท" ที่พัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของแอลซีดีทั่วไปที่เรารู้จักกันดี แต่เพิ่มควอนตัมดอทซึ่งเป็นอนุภาคเล็กๆ เข้าไป ทำหน้าที่แสดงสีออกมาแตกต่างกันออกไปตามขนาดของมัน ควอนตัมดอทไม่สามารถให้สีดำอย่างที่โอเลดทำได้ แต่ชดเชยด้วยความสามารถในการให้ค่าความสว่างได้ในระดับสูงกว่า ซึ่งทำให้ค่าไดนามิกเรนจ์ของควอนตัมดอทต่ำกว่า แต่สีสันจะชัดเจน ใสกว่า
"อัลตร้า เอชดี พรีเมียม" ใช้ค่าไดนามิกเรนจ์ทั้งของ "โอเลด" และของ "ควอนตัมดอท" เป็นมาตรฐาน ควบคู่ไปกับข้อกำหนดอีกบางอย่าง เช่น ต้องมีขีดความสามารถในการประมวลผลแบบ 10 บิต แทนที่จะเป็น 8 บิต เหมือนแต่ก่อน ซึ่งให้สีสันได้มากกว่าเดิมถึง 64 เท่าตัว และต้องแสดงสีของภาพออกมาในจอได้อย่างน้อยที่สุด 90% ของเรนจ์ที่กำหนดไว้ ซึ่งสูงกว่าทีวีรุ่นเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมามาก