svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

"สุทธิชัย" เฟสไลฟ์ "เมธี ครองแก้ว" อดีตปปช. ใครรับสินบน บริษัทเหล้าฝรั่ง??

"สุทธิชัย หยุ่น" สัมภาษณ์ "นายเมธี ครองแก้ว"อดีตกรรมการป.ป.ช. ผ่านเฟสบุ๊คไลฟ์ Suthichai Yoon เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ถึงประเด็นที่อดีตป.ป.ช.ผู้นี้เคยรับผิดชอบเรื่องที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สหรัฐฯ เปิดเผยเอกสารเมื่อหลายปีก่อนว่า บริษัท ดิอาจิโอ พีแอลซี ผู้ผลิตสุรารายใหญ่ของโลก จ่ายสินบน 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่านบริษัทลูกในไทยเพื่อประโยชน์ด้านการค้าและภาษี แต่ผ่านมา 5-6ปี ผู้ต้องสงสัยซึ่งเป็นคนไทยยังไม่ถูกดำเนินการแต่อย่างใด

สุทธิชัย: คุณเมธีเคยเดินทางไปสอบสวนเรื่องนี้ด้วยตัวเองถึง ก.ล.ต. สหรัฐฯ
เมธี: ตอนที่ผมทำคดีเกี่ยวกับอดีตผู้ว่าฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยรับสินบนเอกชนสหรัฐฯให้ได้สิทธิจัดเทศกาลภาพยนต์นานาชาติกรุงเทพฯเมื่อปี 2010 ก็ยังมีอีกคดีที่มีการสารภาพกับก.ล.ต.สหรัฐฯ คือบริษัทรายหนึ่งขายยาสูบให้กับโรงงานยาสูบไทย โดยมีการติดสินบน ผมเลยได้ข้อมูลเรื่องสินบนบริษัทสุรานี้มาพร้อมกัน แต่เรื่องสินบนยาสูบซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง ในสมัยผมเป็นป.ป.ช. ได้แบ่งความรับผิดชอบให้กรรมการแต่ละคนดูคดีที่เกี่ยวกับแต่ละกระทรวง ซึ่งผมไม่ได้ดูกระทรวงการคลัง เลยไม่มีสิทธิทำ จำเป็นต้องส่งให้กรรมการคนอื่นรับไป
ก็รู้สึกเสียดายเหมือนกัน ในเมื่อผมมีข้อมูลอยู่ในมือ ได้คุยกับคนทำคดีในก.ล.ต.สหรัฐฯ ด้วยตัวเอง แต่เมื่อระบบเราไม่เปิดให้ก็ไม่ว่าอะไร จากนั้นก็ไม่ทราบว่ามีการทำอะไรต่ออย่างไร ตอนผมพ้นตำแหน่งกรรมการป.ป.ช. เคยทำหนังสือสอบถามว่าเรื่องสินบนโรงงานยาสูบกับสินบนบริษัทสุราต่างชาติไปถึงไหน ก็ได้คำตอบว่ายังอยู่ในกระบวนการรวบรวมข้อมูลของอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง ป.ป.ช. ซึ่งใช้เวลานานมาก

สุทธิชัย: เอกสารที่ก.ล.ต.สหรัฐฯ เปิดเผย ระบุชัดว่าบริษัทลูกในไทยจ่ายสินบนให้บริษัทที่อ้างว่าเป็นที่ปรึกษารัฐบาลไทยและเจ้าหน้าที่พรรคการเมืองไทย เพื่อให้ช่วยเรื่องภาษี ตั้งแต่ปี 2004-2008 ประมาณ 21 ล้านบาท
เมธี: เป็นข้อมูลจากแหล่งเดียวกันคือก.ล.ต. สหรัฐฯ ซึ่งกรณีบริษัทสุรานี้มีความพิเศษอย่างหนึ่งคือ การต่อต้านทุจริตของสหรัฐฯ จะมีก.ล.ต.และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ประสานกันอยู่ ก.ล.ต.มีหน้าที่ตรวจบัญชี ถ้าพบว่ามีทุจริตจะส่งให้กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ เอาเรื่อง เมื่อบริษัทนี้ถูกทักท้วงว่าการทำงานมีความผิดปกติ บริษัทนี้ก็ไม่เชิงรับสารภาพ เพียงแต่รับว่ามีความไม่ถูกต้อง เมื่อเป็นแบบนี้ ก.ล.ต.สหรัฐฯ ก็ไม่ฟ้องร้อง โดนแค่ปรับประมาณ 15-16 ล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ เมื่อบริษัทยินดีจ่ายค่าปรับเรื่องที่สหรัฐฯก็จบ บริษัทนี้ก็รอดตัวไม่โดนโทษทางอาญา
"มันคล้ายเรื่องสินบนโรลส์รอยซ์ พอเรารู้ว่าเรื่องเป็นแบบนี้ เราต้องรีบจัดการคนทำผิดคือใคร เพราะเอกสารที่คุณอ้างถึงข้อมูลก็เหมือนที่ผมมี เขาพูดชัดเจนเลยว่ามีการให้กับคนคนหนึ่งซึ่งทำหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ สามารถหาตัวบุคคลได้ ตอนนั้นที่ผมมีข้อมูลนี้อยู่ เราก็รู้ชื่อแล้วด้วย"

สุทธิชัย: (อ่านเอกสารที่มีอยู่ในมือ) เอกสารบอกชัดว่าเจ้าหน้าที่ไทยคนนี้ เคยเป็นกรรมการพรรคการเมืองใหญ่พรรคหนึ่ง เคยเป็นรองเลขาฯ นายกฯ เคยเป็นที่ปรึกษารองนายกฯ เป็นที่ปรึกษากระทรวงเกษตรฯ และเคยเป็นที่ปรึกษารัฐวิสาหกิจหลายแห่งด้วย
เมธี: ในเมื่อข้อมูลชัดขนาดนี้ และเรื่องอยู่ในป.ป.ช. ตั้งแต่ช่วงที่ผมยังอยู่ ตอนนี้เกษียณไปแล้ว ก็ไม่สามารถติดตามเรื่องได้ว่าไปถึงไหน ยิ่งตอนนี้ยิ่งตามไม่ได้ใหญ่เรื่องถึงไหน

สุทธิชัย: บริษัทสุรารายนี้รู้ด้วยว่าคนคนนี้เข้าถึงคนในระดับสูงของรัฐบาลไทยขณะนั้น และเป็นคนคอยวิ่งเต้นช่วยบริษัทสุรารายนี้ ในกรณีพิพาทด้านภาษีศุลกากรกับรัฐบาลไทย ถึงขนาดมีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้บริหารระดับสูงของบริษัทกับผู้ใหญ่ในรัฐบาลไทย
เมธี: ทำให้รัฐบาลเรียกเก็บภาษีสุราต่อหน่วยแทนที่จะเป็นภาษีต่อมูลค่าหรือราคา ทำให้บริษัทคู่กรณีได้รับประโยชน์ไม่ต้องเสียภาษีจำนวนมาก ถึงได้เงินทอนเดือนละ 1.2 หมื่นดอลล่าร์สหรัฐฯ เป็นเวลา 49 เดือน

สุทธิชัย : เอกสารของก.ล.ต.สหรัฐฯ ระบุด้วยว่าผู้บริหารบริษัทสุราได้พบปะคนสำคัญของรัฐบาลไทย และนายกฯ ในขณะนั้น 2 ครั้ง เมื่อ เม.ย.และ พ.ค. 2005 และจากนั้น นายกฯ คนนั้นก็พูดผ่านวิทยุทำนองเข้าข้างบริษัทสุรารายนี้
เมธี: ใช่ครับ ช้อมูลที่ก.ล.ต.สหรัฐฯ ระบุนั้น สามารถเช็กได้เลยว่าหมายถึงใคร ถึงบอกว่าถ้าผมยังเป็นกรรมการป.ป.ช. ผมคงไม่ปล่อยให้มันลอยไปลอยมาอย่างนี้ คงต้องทำอะไรบางอย่าง

สุทธิชัย: เท่าที่ทราบความคืบหน้าเรื่องนี้ในป.ป.ช. ไปถึงไหน
เมธี: ผมเชื่อว่าเรื่องนี้มีการตั้งอนุกรรมการไต่สวนฯ ซึ่งมีกรรมการป.ป.ช.คนหนึ่งที่รับผิดชอบคดีที่เกี่ยวกับกระทรวงการคลังดูแลคดีนี้แล้ว แต่ผมไม่รู้ผลงานของอนุกรรมการไต่สวนฯ ไปถึงไหนแล้ว
"ที่ผมสงสัยคือ โดยปกติเมื่อข้อมูลชัดขนาดนี้แล้ว มันไม่น่าจะให้รอตั้งแต่ปี 2010 มันตั้ง 6 ปีผ่านมาแล้ว ยังไม่มีเรื่องอะไรออกมา เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะเข้าใจยาก ถ้ามีโอกาสจะลองไปถามเจ้าหน้าที่ในป.ป.ช."

สุทธิชัย: ข้อมูลตามที่ก.ล.ต.สหรัฐฯ เปิดเผยนี้ น่าจะเพียงพอสำหรับป.ป.ช. หรือหน่วยงานตรวจสอบของเราจนถึงขั้นจับคนผิดได้
เมธี: ข้อมูลเหล่านี้ที่หน่วยงานสอบสวนต่างประเทศ เขามีชื่อบุคคลเหล่านี้หมดแล้ว เราติดต่อขอจากเขาได้ ซึ่งคดีนี้ก็ได้รายชื่อมาแล้วในชั้นเจ้าหน้าที่ของป.ป.ช. เพียงแต่ยังไม่อยากประกาศ เพราะเกรงว่าอาจเสียรูปคดี
สุทธิชัย : ผ่านมา 6 ปีแล้วก็น่าจะสรุปได้ ถ้าเป็นแบบนั้นความคาดหวังในคดีสินบนโรลส์รอยซ์ก็อาจไปไม่ถึงไหน
เมธี : ผมหวังว่าคดีโรลส์รอยซ์น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ความกระตือรือร้นในคดีที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศมีมากขึ้น ซึ่งความสัมพันธ์ของป.ป.ช.กับหน่วยงานอย่างก.ล.ต.และ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ทำงานด้วยกันมาหลายคดี มีการประสานกันตลอด เมื่อเราต้องการอะไรจากเขาถ้าเขาไม่ติดขัดอะไรจริงๆ เขาให้เราหมด และมีบ้างที่หน่วยงานต่างประเทศเหล่านี้ขอข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับไทย
"ผมพูดได้เต็มปากว่า ไม่ใช่ป.ป.ช. ไม่สนใจเรื่องนี้ แต่ความเชี่ยวชาญในด้านภาษาต่างประเทศของเจ้าหน้าที่ป.ป.ช. ในเรื่องคดีแบบนี้ยังมีค่อนข้างน้อย มีไม่กี่คนหรอกที่จะเอาสำนวนมาอ่านแล้วเข้าใจเรื่องจากต้นฉบับภาษาอังกฤษได้อย่างทะลุปรุโปร่ง"

สุทธิชัย : สงสัยว่าทำไมคดีนี้ถึงเงียบไป
เมธี: "ผมเดาว่า ป.ป.ช.คงจะขาดบุคลากรที่จะตามเรื่องนี้ ถึงจะมีคนในองค์กรเยอะจริงหลายพันคน แต่ส่วนใหญ่ไม่ได้ทำคดีเรื่องต่างประเทศแบบนี้ เป็นคดีภายใน อบต. อบจ. ทั้งสิ้น คนที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องต่างประเทศมีไม่ถึง10 คนในป.ป.ช."

สุทธิชัย: หมายความว่าป.ป.ช.ไม่พร้อมทำงานในแง่ที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ
เมธี: ยังพร้อมไม่ถึงจุดที่จะทำเต็มที่ เพราะคนที่จะทำเรื่องนี้ได้ต้องอ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษโดยที่ไม่ต้องเปิดดิกชั่นเนรี่ (หัวเราะ) อุปสรรคสำคัญคือป.ป.ช. ยังขาดบุคลากรที่จะทำเรื่องนี้อย่างเป็นเอกภาพ ด้วยความสามารถสูงสุด

สุทธิชัย : การที่ป.ป.ช.ขอข้อมูลสินบนโรลส์รอยซ์ จากเอสเอฟโอ หรือป.ป.ช. อังกฤษ ซึ่งยังไม่ได้มา เพราะมีปัญหาอะไร
เมธี: จากประสบการณ์บางทีการติดต่อทางเอกสารมันไม่ทันใจ บางทีต้องโทรศัพท์คุยกับเจ้าหน้าที่ที่โน้นโดยตรง หรือสมัยที่ผมเป็นกรรมการป.ป.ช. ก็ไปเองเลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลก เพราะปกติคนเป็นกรรมการจะอยู่แล้วสั่งให้คนไปทำ แต่ผมเป็นนักวิชาการ ไม่ใช่นักบริหาร อยากรู้เรื่องเองก็ไปหาข้อมูลเอง โดยขออนุมัติที่ประชุมกรรมการป.ป.ช. ซึ่งผมมีเครือข่ายที่สหรัฐฯ ไปครั้งหนึ่งก็ได้มาหลายเรื่อง
"ผมไปก็ได้ตั้งคำถามกับหน่วยงานของสหรัฐฯ ว่า ค่าปรับบริษัทที่ทำทุจริตเป็นเงินหลายล้านเหรียญนั้น เงินต่างๆ เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งที่เอามาจากประเทศไทย แล้วคุณจะคืนให้เราบ้างได้ไหม บริษัทสุราที่ได้ประโยชน์จากภาษีบ้านเราแล้ว แล้วถูกปรับ ส่วนนี้ก็คือผลประโยชน์ของเรา คืนให้ประเทศไทยบ้างซิ เขาก็ยังตอบไม่ได้ ซึ่งมันเป็นประเด็นอยู่ เพราะในอนาคตป.ป.ช.น่าจะเล่นเรื่องนี้มากขึ้น ถ้าเขาปรับคนทำผิดไปแล้ว ค่าปรับนั้นจะต้องส่งคืนประเทศเราด้วย เพราะประเทศเราเสียหาย"