1 ธ.ค. 59 - ที่ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร(กทม.) 6 ศาลาว่าการกทม. ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากทม. เป็นประธานที่ประชุมแนวทางการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียของกทม. โดยมีนางสุทธิมล เกษสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. ศาสตราจารย์ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการกำจัดมลพิษ รองศาสตราจารย์ด็อคเตอร์เขมรัฐ โอสถาพันธุ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาชิกสภากทม. ร่วมประชุม ก่อนการพิจารณาร่างข้อบัญญัติเรื่องการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียของสภากทม.
นางสุทธิมล กล่าวว่า หลังจากกทม.ได้ออกข้อบัญญัติเรื่องการจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียปี 2547 ที่ผ่านมาได้ประสานกับการประปานครหลวง(กปน.) เพื่อให้ทำหน้าที่จัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียคนกรุงเทพฯ โดยให้อยู่ในบิลเดียวกับการจัดเก็บค่าน้ำ แต่กปน.ได้ตอบปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าตามพรบ.ของกปน.นั้น ไม่ให้อำนาจกปน.ในการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากประชาชนได้ ขณะที่ตามข้อบัญญัติกทม.ปี 2547 ก็ให้กทม.มีอำนาจจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียได้เฉพาะในพื้นที่ที่มีการเปิดใช้โรงบำบัดน้ำเสียแล้วเท่านั้น ส่วนพื้นที่ที่ไม่มีโรงบำบัดน้ำเสียไม่สามารถจัดเก็บได้ เพราะถือว่าเป็นการเอาเปรียบประชาชนในพื้นที่ที่ไม่มีโรงบำบัดน้ำเสีย ซึ่งปัจจุบันกทม.มีการเปิดใช้โรงบำบัดน้ำเสียแล้ว 8 แห่ง 1.โรงบำบัดน้ำเสียหนองแขม 2.โรงบำบัดน้ำเสียรัตนโกสินทร์3.โรงบำบัดน้ำเสียสี่พระยา 4.โรงบำบัดน้ำเสียจตุจักร 5.โรงบำบัดน้ำเสียดินแดง 6.โรงบำบัดน้ำเสียช่องนนทรี 7.โรงบำบัดน้ำเสียทุ่งครุ และ8.โรงบำบัดน้ำเสียบางซื่อ ครอบคลุมพื้นที่เพียง 21 สำนักงานเขตเท่านั้น
"ในการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดน้ำเสียร่วมกันที่กระทรวงมหาดไทยที่ผ่านมา มีผู้เสนอให้มีการใช้มาตรา 44 มาแก้ไขเรื่องการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย โดยจะประสานกับรัฐบาลในเรื่องนี้ ซึ่งกทม.ก็คงจะรอการประสานงานเรื่องนี้ต่อไป"นางสุทธิมล กล่าว
ด้านรองศาสตราจารย์ด็อคเตอร์เขมรัฐ กล่าวว่าเห็นด้วยกับแนวคิดเรื่องการให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 โดยให้ใช้อำนาจเป็นคำประกาศคำสั่งให้กปน.สามารถจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย และให้กทม.มีอำนาจสั่งเก็บค่าบำบัดน้ำเสียทั่วพื้นที่กรุงเทพฯไม่ใช่แค่พื้นที่ที่มีโรงบำบัดน้ำเสียแล้วเท่านั้น เพราะเรื่องนี้ทำให้กระบวนการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียล่าช้ามานานแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมได้สนับสนุนให้กทม.จัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียจากคนกรุงเทพฯ โดยฝั่งนักวิชาการด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมเห็นชอบให้ใช้หลักการที่ว่า ผู้ก่อมลพิษต้องเป็นผู้จ่าย ขณะที่สมาชิกสภากรทม.ก็เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่ที่ผ่านมาติดปัญหาด้านกฎหมาย จึงอยากให้ในเบื้องต้นขอให้เกิดการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่กทม.ต้องชี้แจงให้คนกรุงเทพฯเข้าใจถึงสาเหตุการเก็บค่าบำบัดน้ำเสีย อย่างไรก็ตามสภากทม.จะเชิญนักวิชาการที่ร่วมประชุมครั้งนี้ มาร่วมประชุมอีกครั้ง ในช่วงกลางเดือนม.ค.2560 ซึ่งเป็นช่วงที่สภากทม. จะหาข้อสรุปผลการศึกษาเรื่องการจัดเก็บค่าบำบัดน้ำเสียคนกรุงเทพฯ โดยจะนำร่างข้อบัญญัติบำบัดน้ำเสียปี 2547 มาประกอบการศึกษาด้วย ก่อนที่จะนำผลศึกษาเสนอฝ่ายบริหารกทม.ต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับอัตราค่าจัดเก็บค่าธรรมเนียมบำบัดน้ำเสียตามที่สภากทม.ศึกษา ขณะนี้ได้ศึกษาไว้แบ่งเป็น 3 ประเภท ตามประเภทของอาคาร 1.บ้านเรือนที่อยู่อาศัยที่ปริมาณน้ำเสียเกิน 10 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อเดือน แต่ไม่เกิน 100 ลบ.ม.ต่อเดือน อัตราอยู่ที่ 30 บาทต่อเดือนต่อหลังคาเรือน 2.หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน มูลนิธิ ศาสนสถาน โรงพยาบาล โรงเรียน และธุรกิจขนาดเล็ก ปริมาณน้ำเสียไม่เกิน 500 ลบ.ม.ต่อเดือน อัตราอยู่ที่ 500 บาทต่อเดือนต่อหลังคาเรือน ส่วนปริมาณน้ำเสียเกิน 500 ลบ.ม.ต่อเดือน แต่ไม่เกิน 1,000 ลบ.ม.ต่อเดือน อัตราอยู่ที่ 1,000 บาทต่อเดือนต่อหลังคาเรือน ขณะที่ปริมาณน้ำเสีย เกิน 1,000 ลบ.ม.ต่อเดือน อัตราอยู่ที่ 1,500 บาทต่อเดือนต่อหลังคาเรือน และ 3.โรงแรม โรงงาน และธุรกิจขนาดใหญ่ จะคิดตามปริมาณการใช้น้ำจริง ในอัตรา 4 บาทต่อลบ.ม.