svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

วิธีการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีสหรัฐ

ระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและเข้าใจยาก ไม่เฉพาะแต่กับคนต่างชาติเท่านั้น คนอเมริกันเองก็ยอมรับว่าน่าปวดหัว การเลือกตั้งจะมีความซับซ้อนอย่างไรไปติดตามพร้อมกัน

ตามระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ แม้ประชาชนจะเป็นผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกประธานาธิบดี หรือที่เรียกกันว่า ป๊อปปูลาร์โหวต ซึ่งได้แก่ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แต่คะแนนเสียงที่เป็นตัวตัดสินผลแพ้ชนะ คือ คะแนนเสียงจากคณะผู้เลือกตั้ง หรือ อิเล็คทอรัล คอลเลจ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 538 เสียง เท่ากับจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 435 เสียง รวมกับสมาชิกวุฒิสภา 100 เสียง บวกกับอีก 3 เสียงพิเศษ ในดิสทริค ออฟ โคลัมเบีย หรือกรุงวอชิงตัน ดีซี. เมืองหลวงของสหรัฐ
ทั้งนี้ เป็นเพราะความสลับซับซ้อนของกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งชิงชัยกันในแต่ละรัฐ ด้วยระบบ "วินเนอร์ เทค ออล" กล่าวคือ ผู้สมัครที่มีคะแนนเสียงป๊อปปูลาร์โหวตเหนือกว่าในรัฐใดรัฐหนึ่ง จะได้คะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งในรัฐนั้นไปทั้งหมด แม้ว่าคะแนนเสียงป๊อปปูลาร์โหวต จะชนะกันอย่างคู่คี่สูสีก็ตาม
ขณะเดียวกัน คะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้งในแต่ละรัฐ ก็มีไม่เท่ากัน ทำให้ความสำคัญในการแพ้-ชนะในแต่ละรัฐ แตกต่างกันไป โดยผู้ที่ได้คะแนนเสียงดีกว่าในรัฐใหญ่ๆ ก็มีโอกาสคว้าชัยชนะมากกว่า หากพรรคใดสามารถครองเสียงคณะผู้เลือกตั้งเกินกว่า 270 เสียงหรือกึ่งหนึ่งของจำนวนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมด ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคนั้นก็จะได้รับเลือกเป็นผู้นำสหรัฐคนต่อไป
ตามกำหนดการแล้ว คณะผู้เลือกตั้งทั้ง 538 คนจะต้องลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีสหรัฐ ภายใน 30 วันหลังวันเลือกตั้ง และจะส่งผลการลงคะแนนเสียงไปยังกรุงวอชิงตัน เพื่อเปิดนับในรัฐสภา ก่อนจะประกาศชื่อผู้ได้รับชัยชนะในที่สุด
แต่ในกรณีที่ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตและรีพับลิกันได้รับคะแนนสนับสนุนจากคณะผู้เลือกตั้ง 269 เสียงเท่ากัน ซึ่งสถานการณ์แบบนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อปี 2343 เมื่อโธมัส เจฟเฟอร์สัน ได้คะแนนเสียงได้คะแนนเสียงคณะผู้เลือกตั้ง เท่ากับแอรอน เบอร์ พอดี ตามรัฐธรรมนูญสหรัฐ ฉบับแก้ไขครั้งที่ 12 ให้อำนาจสภาผู้แทนราษฎรเลือกประธานาธิบดีสหรัฐ และให้วุฒิสภาเลือกรองประธานาธิบดี ซึ่งตามกติกา แล้ว หากผู้สมัครจากพรรคใด ได้เสียงสนับสนุนจากสส.เกินกว่า 25 รัฐ หรือกึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 50 รัฐ ผู้สมัครจากพรรคนั้นก็จะได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี และรองประธานาธิบดีและมีความเป็นไปได้ว่าผู้สมัครที่ได้รับชัยชนะป๊อปปูลาร์โหวต แต่พ่ายแพ้คะแนนอิเลคทอรัลโหวต โดยครั้งสุดท้ายที่ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งปราชัยในส่วนคะแนนป๊อปปูลาร์โหวต กลับเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะเพราะได้อิเลคทอรัลโหวตมากกว่า เกิดขึ้นปี 2543 เมื่อจอร์จ ดับเบิลยู บุช จากพรรครีพับลิกัน ชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ แม้จะพ่ายแพ้คะแนนป๊อบปูลาร์ โหวต ให้แก่ อัล กอร์จากพรรคเดโมแครต
สำหรับถามที่ว่า ทำไมรัฐธรรมนูญสหรัฐจึงกำหนดให้ประชาชนเลือกผู้นำประเทศผ่านคณะผู้เลือกตั้ง คำตอบก็คือในช่วงเริ่มร่างรัฐธรรมนูญเมื่อกว่า 200 ปีที่แล้วนั้น บรรดาผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ยังไม่ไว้ใจว่าประชาชนทั่วไปที่ส่วนใหญ่การศึกษาไม่สูงอาจจะไม่มีวิจารณญาณเพียงพอในการเลือกผู้นำ อาจได้คนไม่ดี เพราะมองว่านักการเมืองมักไม่ใช่คนดีที่น่าวางใจ จึงต้องมอบหมายให้คณะผู้เลือกตั้งซึ่งเป็นผู้มีการศึกษาหรือปัญญาชนไปทำหน้าที่เลือกแทน อีกเหตุผลหนึ่งคือแต่ละรัฐต้องการถ่วงดุลอำนาจของตนเองกับรัฐบาลกลาง แต่ตอนนี้ก็มีเสียงเรียกร้องให้ยกเลิกระบบการเลือกตั้งดังกล่าว เพราะทำให้ได้ผู้นำที่ไม่ได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ในกรณีที่พ่ายป็อบปูลาร์โหวต