svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ผู้เชี่ยวชาญ จี้หาแหล่งที่มาสารพิษ สาเหตุ "กระเบนราหู" ตาย

ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์น้ำ เผยผลตรวจซากกระเบนราหู 3 ตัวพบสารพิษชนิดเดียวกัน เป็นสาเหตุให้ปลาตายทันที จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาแหล่งที่มาสารพิษ

รศ.สัตวแพทย์หญิง นันทริกา ชันซื่อ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญปลาน้ำจืด บอกถึงผลการตรวจซากกระเบนราหูจำนวน 3 ตัว พบผลตรงกันคือ ได้รับสารพิษชนิดเดียวกันที่ส่งผลให้ปลาตายในทันที หรือภาษาทางวิชาการคือตายแบบเฉียบพลัน โดยสารพิษดังกล่าวทำลายระบบไต หัวใจ และประสาท ส่วนจะมาจากที่ใดเป็นเรื่องที่กรมควบคุมมลพิษและประมงจังหวัดสมุทรสงครามและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องบูรณาการงานร่วมกัน เนื่องจากขณะนี้พบยอดกระเบนตายไม่ต่ำกว่า 50 ตัว ซึ่งตามหลักธรรมชาติจะมีมากกว่านั้น เนื่องจากกระเบนตายส่วนหนึ่งจะลอยอืด ขณะที่อีกส่วนจะจมลงใต้น้ำซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ ประเมินว่าอาจจะตายถึง 100 ตัว

และวันนี้(10 ต.ต.) รศ.สัตวแพทย์หญิง นันทริกา และคณะจะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมปัญหาปลาในกระชังของชาวบ้าน ล่าสุดพบว่าตายยกกระชังจำนวนหลาย 10 แห่ง ในระยะเวลาเดียวกันกับที่กระเบนราหูตาย ทำให้ รศ.สัตวแพทย์หญิง นันทริกา ตั้งข้อสังเกตว่าจะได้รับสารพิษชนิดเดียวกันเพราะแม้ปลาในกระชังจะแข็งแรงแต่หากถูกขังไม่สามารถว่ายหนีได้ก็จะตายได้เช่นกัน

โดยปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้สะท้อนได้ว่าแม่น้ำแม่กลองมีปัญหาเพราะสัตว์ที่ไวต่อสารเคมีอย่างกระเบนราหู และสัตว์น้ำทั่วไปตายในห้วงระยะเวลาเดียวกัน ดังนั้นการแก้ปัญหาจึงต้องเป็นวาระแห่งชาติ เพราะแม่น้ำแม่กลองกินพื้นที่หลายจังหวัดการบูรณาการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงการตายของสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์สงวนจำนวนมากจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

ขณะที่วานนี้ (9 ต.ค.) ชาวบ้านยังคงพบซากปลากระเบนราหูอย่างต่อเนื่อง บริเวณริมแม่น้ำแม่กลอง หน้าวัดแม่น้ำ ต. ท้ายหาด อ. เมือง จ.สมุทรสงคราม พบซากปลากระเบนราหู ขนาด 1.50 เมตร น้ำหนักกว่า 100 กิโลกรัม สภาพเริ่มเน่าและส่งกลิ่นเหม็น ก่อนที่จะเก็บกู้ซากขึ้นมาฝังกลบ ซึ่งกระเบนตัวที่ถูกค้นพบนี้เป็นตัวที่ 27

ขณะเดียวกันประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าทยอยพบกระเบนราหูลอยขึ้นเหนือน้ำเป็นจำนวนมากรวมยอดทั้งสิ้น 38 ตัวส่วนปลากระเบนราหูที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ถูกพักฟื้นที่สถานีเพาะเลี้ยง และอยู่ในสภาพเกือบจะปกติแล้ว