พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าวว่า ตามที่ บช.น. ออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขต กทม.(ชั่วคราว)ว่า ด้วยการห้ามรถบางชนิดและล้อเลื่อนลากเข็น เดินบนสะพานข้ามทางร่วมทางแยกและในอุโมงค์ลอดทางร่วมทางแยก พ.ศ.2559 ซึ่งประกาศวันที่ 28 มี.ค.2559 โดยให้มีผลใช้บังคับถัดจากวันประกาศเป็นต้นไปมีกำหนดระยะเวลา 90 วัน
หลังจากที่มีการออกประกาศข้อบังคับฉบับดังกล่าวออกไป ได้มีกลุ่มจักรยานยนต์ ออกมาคัดค้านและมีการรวมตัวเพื่อยื่นฟ้อง บช.น. กทม.และกรมทางหลวงต่อศาลปกครอง โดยระบุว่า ข้อบังคับดังกล่าวนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
" บช.น.ขอเรียนชี้แจงดังนี้ การออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรในเขต กทม. (ชั่วคราว) ดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 139 กำหนดให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจร ถ้าเห็นว่า เพื่อความปลอดภัยและสะดวกในการจราจร มีอำนาจออกประกาศข้อบังคับห้ามรถทุกชนิดหรือบางชนิดเดินในเส้นทางใดได้
อีกทั้งที่ผ่านมามีการร้องเรียนเข้ามามากว่า มีรถจักรยานยนต์ขับขี่ขึ้นสะพานและลงอุโมงค์ มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ทั้งที่มีการออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรตั้งแต่ปี 2538 จำนวน 27 สะพานต้องห้าม และจนถึงขณะนี้ยังมีอีก 52 สะพานและ 10 อุโมงค์ ที่ยังมิได้มีการออกข้อบังคับ บช.น.จึงสั่งการให้จราจร ทุก สน. ตรวจสอบข้อมูลว่า มีสะพานและอุโมงค์ใดบ้าง ที่ต้องออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจร เพื่อเป็นการลดอุบัติเหตุและให้การจราจรคล่องตัว ตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2559 และออกข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรชั่วคราวใน 39 สะพาน และ 6 อุโมงค์ มีกำหนดระยะเวลา 90 วัน โดย " รอง ผบช.น.กล่าว
จากการประเมินผลหลังออกข้อบังคับฯดังกล่าว พบผลสำรวจประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนส่วนใหญ่เห็นด้วย ที่ไม่อนุญาตให้รถจักรยานยนต์ขึ้นสะพานและลงอุโมงค์ เพราะไม่ปลอดภัยมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูง แต่หากให้รถจักรยานยนต์วิ่งบนสะพานและลงอุโมงค์จะต้องกำหนดและแบ่งช่องทางให้ชัดเจน ซึ่งด้านวิศวกรรมได้เชิญกรมทางหลวง , กรมทางหลวงชนบท กทม. การทางพิเศษแห่งประเทศไทยและผู้เกี่ยวข้องมาประชุมหารือ พร้อมเสนอข้อมูลด้านความปลอดภัยทางวิศวกรรมให้พี่น้องสื่อมวลชนรับทราบ
พล.ต.ต.อดุลย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อบังคับเจ้าพนักงานจราจรชั่วคราวที่ออกมา ซึ่งจากการประชุมกับ สน.พื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เห็นด้วยที่จะให้มีการออกข้อบังคับถาวร จะมีเพียงบางส่วนที่ยังต้องไปตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม คือ อุโมงค์รามคำแหง-พัฒนาการ เนื่องจาก สน. ที่รับผิดชอบ แจ้งว่า หากไม่อนุญาต ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จะต้องไปกลับรถเป็นระยะทางไกลกว่า 5 กิโลเมตร ซึ่งในเรื่องนี้จะได้มีการนัดหมายประชุมกับผู้เกี่ยวข้องต่อไป
ด้าน นายสุจิน กล่าวว่า สะพานหรืออุโมงค์ในทางวิศวกรรมจราจร มีการออกแบบ 2 ลักษณะคือ ออกแบบเพื่อให้รถทุกประเภทสัญจร โดยมีไหล่ทางซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกเมือง วัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ปัญหาจราจรคือใช้ระบายรถขนาดใหญ่ออกจากพื้นที่ผิวจราจรให้มากที่สุด และ 2 เป็นการออกแบบลักษณะสะพานเพื่อแก้ปัญหาจราจรโดยเฉพาะรถยนต์เพื่อขึ้นสะพานไม่ได้ออกแบบเพื่อรถจักรยานยนต์ ฉะนั้นในบางสะพานจึงห้ามไม่ให้รถจักรยานยนต์ขึ้นขณะที่ นายศาศวัต กล่าวว่า พื้นที่ กทม.และปริมณฑล มีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา 13 แห่ง ซึ่งไม่ได้ห้ามจักรยานยนต์ใช้ แต่จะมีเพียง 2 สะพาน คือ พระราม 3 และภูมิพล เนื่องจากสะพานทั้ง 2 สูงจากระดับน้ำประมาณ 50 เมตร เป็นสะพานเชิงลาและไต่ระดับสูงสุด มีทางลงระยะยาว ทำให้ยากต่อการควบคุมรถจักรยานยนต์ มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ซึ่งจากสถิติที่ผ่านมา มีการอนุญาตให้รถจักรยานต์ขึ้นสะพานภูมิพล พบเกิดอุบัติเหตุมากกว่าร้อยละ 20
จากความเห็นของตัวแทนหลายหน่วยงานข้างต้นสอดคล้องกับความเห็นของนายสมชาย ที่ว่า รถจักรยานยนต์ มีสมรรถนะและลักษณะทางกายภาพค่อนข้างจำกัด การใช้ทางร่วมกับรถยนต์บนสะพานหรืออุโมงค์ข้ามแยกจะเป็นอันตราย โดยเฉพาะขาลงสะพานหรือลงจากอุโมงค์ ซึ่งการเบรคและการทรงตัว เป็นปัจจัยสำคัญอาจทำให้รถลื่นไหล ด้วยความแคบของช่องการจราจร หากจักรยานยนต์ล้มในอุโมงค์ จะหลบเลี่ยงกันไม่ได้และจะเป็นอันตรายมากหากใช้ร่วมกับรถยนต์
นายโรจน์ เสนอความเห็นว่า สำนักการโยธา ได้ปรับสะพานหลักเพื่อแก้ไขปัญหาจราจรโดยเฉพาะสะพานข้ามแยก ปกติสะพานข้ามแยกในเมืองส่วนใหญ่มีพื้นที่จำกัดจึงไม่สามารถออกแบบให้มีไหล่ทางเหมาะกับจักรยานยนต์ จึงทำให้รถจักรยานยนต์ขับได้ช้า และทำให้รถขนาดใหญ่ที่ขับตามหลังมาช้าไปด้วย ทำให้ไม่สามารถระบายรถได้ดี