พ.ต.อ.เอกรักษ์ ลิ้มสังกาศ รองผู้บังคับการตำรวจจราจร (รองผบก.จร.) กล่าวว่า เมื่อเดือนกันยายน 2558 สำนักตรวจสอบภายใน ได้ตรวจสอบทุกหน่วยในกองบังการตำรวจจราจร แล้วก็รายงานว่า ในส่วนของสายตรวจ 1 กองกำกับการ 1 มีปัญหา ไม่สามารถนำต้นขั้วใบเสร็จรับเงินมาตรวจได้ครบตามจำนวน จากนั้นก็รายงานไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็สั่งการไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล จากนั้นก็มีคำสั่งให้กองบังคับการตำรวจจราจร ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว
การตรวจสอบเป็นการตรวจสอบตามวงรอบตามปกติ เป็นการสุ่มตรวจจากข่าวที่สื่อเสนอว่า เป็นใบสั่งหายไปนั้น ไม่ใช่ ที่จริงแล้วเป็นใบเสร็จรับเงินค่าปรับ ใน 1 เล่ม มี 100 ใบ เล่มที่หายไปเป็นต้นขั้วใบเสร็จรับเงิน ซึ่งที่ตรวจพบนั้น หายไป 50 เล่มหลังจากตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว ตรวจสอบพบว่า ใบเสร็จที่หายไป มีการนำไปใช้ เนื่องจากไปตามหาผู้ต้องหาเจอ และได้ใบเสร็จจากผู้ต้องหา ซึ่งเลขลำดับเล่มตรงกับเล่มที่หายไป ก็คือ ได้เงินค่าปรับจากผู้ต้องหาเรียบร้อยแล้ว แต่ตัวต้นขั้วของใบเสร็จไม่ทราบว่าหายไปไหน ทำให้ระบบตรวจสอบไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า มีการส่งเงินตามสำเนาใบเสร็จเล่มนี้หรือไม่
การหายไปนั้น จะหายไปบางช่วงของแต่ละลอต เช่น ลอตแรกเบิกไป 10 เล่ม หายไป 1 เล่ม ลอตต่อไป เบิก 10 เล่ม ก็หายไปอีก 2 เล่ม ซึ่งทุกครั้งจะหายไปครั้งละ 1-2 เล่ม คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงจึงวินิจฉัยว่า น่าจะเป็นมูลเหตุของการทุจริต นั่นคือ เก็บเงินค่าปรับแล้วไม่นำส่ง
สำหรับมูลค่าความเสียหายนั้น ใน 1 เล่ม มี 100 ฉบับ สมมุติว่า เมื่อเปรียบเทียบปรับรายละ 500 บาท ก็คือ เล่มละ 5 หมื่นบาท หายไป 50 เล่ม ก็คือ 2.5 ล้านบาท ตรงนี้เป็นการประมาณการ
อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบปรับแต่ละรายไม่เท่ากัน เพราะโทษปรับมีตั้งแต่ 100-1,000 บาท บางข้อหา 2,000 บาท ในเมื่อยังไม่เจอต้นขั้ว จึงยืนยันไม่ได้ว่า ยอดเงินแต่ละเล่มเป็นเงินเท่าไหร่
ปกติตามระเบียบปฏิบัติ จะมีเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบปรับปฏิบัติหน้าที่ 3 คน หมุนเวียนกันมาเข้าเวรให้ครบ 24 ชั่วโมง คนใหม่มารับเวร คนเก่าก็จะส่งมอบต่อให้ ดังนั้นใน 3 คน จะต้องมีส่วนรู้ขั้นตอนในเอกสารทั้งหมด คณะกรรมการตรวจสอบจึงเชื่อว่าทั้ง 3 คน มีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะใบเสร็จ 1 เล่ม จะต้องใช้จนหมดเล่ม จึงจะขึ้นเล่มใหม่
สำหรับ พ.ต.ท.พัทธนนท์ เกียรติไพบูลย์ สารวัตรงานสายตรวจ 1 กองกำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจจราจร ในฐานะที่เป็นหัวหน้า กำกับดูแล มีหน้าที่ต้องเซ็นในแต่ละวัน คณะกรรมการตรวจสอบจึงพิจารณาว่า หัวหน้าน่าจะมีส่วนพัวพันเกี่ยวข้องด้วย
ล่าสุด มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงแล้ว ดังนั้น จึงต้องรอผลการสอบสวนอย่างละเอียด ถึงจะวินิจฉัยอีกครั้งว่า มีใครผิดบ้าง ผิดแค่ไหน นอกจาก 4 คน ดังกล่าวแล้ว ยังมีใครอีกหรือไม่จะอ้างอย่างไรก็ได้เป็นสิทธิ แต่ต้องมีพยานหลักฐานมาอธิบายให้ได้ว่า ต้นขั้วใบเสร็จรับเงินหายไปได้อย่างไร
ก่อนหน้านี้ เคยพบปัญหาเรื่องส่งเงินค่าปรับ ที่หน่วยแสมดำ ก็ออกไป 4 คน จากนั้นก็มีการตรวจสอบทั้งระบบ แล้วก็มาพบที่สายตรวจ 1 กองกำกับการ 1
การลงโทษหากพบว่า มีความผิดจริง มี 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นเรื่องวินัย โทษสูงสุด ไล่ออก หรือปลดออก แต่หากมีพยานหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ามีการทุจริต ก็ส่งไปดำเนินคดีทางอาญา
นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม กล่าวว่า ทางชมรมได้รับการร้องเรียนเรื่องของการปลอมใบเสร็จ การปลอมใบสั่ง ในพื้นที่ 88 สน. ขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบ ซึ่งล่าสุดสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งว่า ขณะนี้ได้ให้ 88 สน. ส่งต้นขั้วใบเสร็จ และ ใบสั่ง มาตรวจสอบ แต่ ผบ.ตร.ยังไม่ได้เซ็นเอกสาร จึงยังไม่สามารถตรวจสอบได้
ปัญหาที่ตรวจสอบในขณะนี้ เป็นการตรวจสอบการตั้งด่าน แล้วให้จ่ายเงินค่าปรับที่ด่าน ไม่ให้ไปจ่ายที่โรงพัก โดยอ้างว่าเป็นการอำนวยความสะดวก ซึ่งถือเป็นการทุจริตรูปแบบใหม่