svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

กระรอกเป็นเหตุ! ทำไฟช็อต ส่งผลระบบไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์"ขัดข้อง"

นายนิพนธ์ จิรทวีวุฒิ ผู้ช่วยผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เปิดเผยถึงกรณีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ หยุดให้บริการเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิด 2 ปัจจัย ได้แก่ ไฟฟ้าของ กฟน. ดับและเครื่องไฟฟ้าสำรอง (UPS) ของบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์เสีย


เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ กฟน. รายงานว่า เหตุไฟฟ้าดับเกิดจากกระรอก ซึ่งอยู่ตามต้นไม้ ถูกสายป้อนขนาด 12 หรือ 24 kV จากบางกะปิของ กฟน. ส่งผลให้เกิดไฟฟ้าช๊อต อุปกรณ์ตัดไฟฟ้าจึงทำงานเพื่อรักษาความปลอดภัยของระบบ ทำให้สายป้อนที่มีความยาว 2-3 กิโลเมตร ไม่สามารถส่งไฟฟ้าให้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ รวมถึงบริเวณรอบสายป้อนตามปกติ ประกอบกับเครื่องไฟฟ้าสำรอง (UPS) ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ ที่มีอยู่ไม่ทำงานจึงเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากระบบ กฟน. แม้ปัจจุบัน กฟน. จะติดตั้งอุปกรณ์ดักสัตว์รบกวนที่เสาไฟฟ้า รวมถึงตัดแต่งต้นไม้ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งปลูกตามแนวถนนบริเวณเดียวกับสายป้อนทุกปีแล้ว แต่บางครั้งก็ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง เพราะต้นไม้เหล่านี้โตเร็ว โดยถ้าระบบไฟฟ้าช๊อตเพราะถูกสัตว์ เช่น กระรอกหรือนกรบกวน รวมถึงจากเหตุอื่นๆ เช่น รถชนเสาไฟฟ้า อุปกรณ์ก็จะตัดไฟฟ้าทันทีเพื่อรักษาระบบโดยรวมเช่นเดียวกับกรณีที่เกิดขึ้น
"ถ้าหากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ในฐานะบริษัทแม่ของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์หรือกระทรวงคมนาคม จะเชิญผู้เกี่ยวข้องรวมถึงรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถไฟฟ้าใต้ดินเข้าหารือ ทาง กฟน. ก็ยินดีจะร่วมหาแนวทางหรือมาตรการป้องกันเหตุในอนาคตฎ" นายนิพนธ์กล่าว

กระรอกเป็นเหตุ!
ทำไฟช็อต ส่งผลระบบไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์\"ขัดข้อง\"


ส่วนกรณีที่ทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ระบุว่า กฟน. มีปัญหาไฟฟ้าตกบ่อยจนกระทบต่อการเดินรถนั้นในช่วงที่ผ่านมานั้น นายนิพนธ์ กล่าวว่า ไม่ขอตอบโต้ในประเด็นดังกล่าว แต่พร้อมหารือเพื่อแก้ไขปัญหา โดยปกติ กฟน. จะดูแลคุณภาพไฟฟ้าช่วงต้นทางให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด แต่ถ้าความต้องการใช้ไฟฟ้าปลายทางอยู่ในระดับสูงอาจมีปัญหาไฟฟ้าตกบ้าง
อย่างไรก็ตาม พื้นที่ กฟน. มีโอกาสไฟตกน้อย เนื่องจากระบบส่งอยู่ในระยะสั้น ครอบคลุมพื้นที่เพียง 3 จังหวัด แตกต่างจากพื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) ที่มีสายส่งระยะไกล

กระรอกเป็นเหตุ!
ทำไฟช็อต ส่งผลระบบไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์\"ขัดข้อง\"


นายนิพนธ์กล่าวถึงช่วงที่ไม่มีกระแสไฟฟ้าจ่ายสู่ระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรล ลิงค์ หรือนิวตรอนโซนว่า รถไฟฟ้าความเร็วสูงทั่วโลกจะใช้ไฟฟ้าเฟสเดียว แรงดันไฟฟ้า 25 kV ทำให้ต้องมีนิวตรอนโซนเพื่อสร้างสมดุลไฟฟ้าในการเดินรถ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ที่มีความเร็วสูงสุด 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจึงใช้ระบบนี้เช่นกัน ส่วนรถไฟฟ้าใต้ดินหรือรถไฟฟ้าบีทีเอสที่มีความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงจะใช้ไฟฟ้า 3 เฟสเช่นเดียวกับที่ กฟน. จ่าย จึงไม่ต้องใช้ระบบนิวตรอนโซนแต่อย่างใด