นพ.เทพ เวชวิสิฐ แพทย์ศัลยกรรมตกแต่ง ผู้ก่อตั้งประตูน้ำโพลีคลีนิค กล่าวว่า ครั้งแรกที่เห็นสื่อฉบับหนึ่งพาดหัวโดยใช้คำว่า เฟซออฟ บอกได้ทันทีว่าข้อมูลไม่ถูกต้อง แต่พูดมากไม่ได้ ไม่มีหน้าที่ อีกไม่นานก็จะถูกทางราชการจัดการ ดำเนินการตรวจสอบเอง โดนแน่ เพราะกลุ่มงานส่วนราชการตรงนี้เข้มงวด เอาจริง เคยเห็นหมอที่โดนเล่นมาแล้วหลายคน
ในวงการเสริมความงาม ไม่ได้ใช้คำว่า ผ่าตัดเสริมสวย คือ คนปกติในเวลาที่แก่ชรา เราก็จะใช้หน้าตัวเองดึงๆ แล้วเย็บเข้าใหม่ ด้วยใบหน้าของเขาเอง
ในคนไข้บางประเภท ซ่อมของตัวเองไม่ไหว อย่างเช่น โดนปืนยิงใบหน้าเละ หรือปากถูกสุนัขกัดปากหายไปทั้งยวง เขาจะไม่มีปากสำหรับกินอาหาร หรือพูด แก้ทางอื่นไม่ได้ ก็จะต้องตัดใบหน้าจากศพที่สมองตายก็ตัดมาเลย ลอกมาทั้งแผ่น แล้วปะ แล้วก็ต่อเส้นเลือด ตรงนี้จะใช้สำหรับการแก้ไขปัญหาความพิการที่ไม่สามารถใช้ทางอื่นได้เลย เป็นทางเลือกสุดท้าย แต่ไม่เรียกว่า การเสริมความงาม
กรณีที่ต้องใช้วิธีทางเลือกสุดท้าย อาจจะมีอาการแทรกซ้อน ดังนั้น คนไข้อาจจะต้องรับประทานยา
ถ้าเป็นการเอาบางส่วนมาทำ ก็เรียกว่า เฟซออฟ ได้ เพราะคนที่ทำเป็นคนแรก เขาไม่ได้ทำทั้งใบหน้า เขาก็ทำแต่น้อยๆ ไม่ได้ทำใหญ่ พอทำน้อยๆ ได้ผลเขาก็ทำมากขึ้น ทำใหญ่เลย ซึ่งในต่างประเทศทำได้สำเร็จแล้ว
ยังมีคำโดยเฉพาะที่เรียกกันว่า ปลูกถ่ายใบหน้า อย่างเช่น ไตเสีย เราก็ไปเปลี่ยนไตเรียกว่า ปลูกถ่ายไต ตับเสีย ก็ปลูกถ่ายตับ ใบหน้าเสียก็เรียกว่า ปลูกถ่ายใบหน้าเฟซออฟ ใช้ไม่ได้ เพราะทางการแพทย์แล้วไม่มีความหมาย คำว่าเฟซออฟเป็นชื่อของภาพยนตร์ในอดีตเรื่องหนึ่งเท่านั้น
นพ.เทพ เวชวิสิฐ แพทย์ศัลยกรรมตกแต่ง ผู้ก่อตั้งประตูน้ำโพลีคลีนิค
สำหรับ เฟซลิฟต์ ก็คือ การใช้มีดกรีดหนังตัวเอง แล้วก็เย็บดึงให้ตึง ส่วนที่เหี่ยวย่นเป็นส่วนเกินก็ตัดทิ้งไป แค่ดึงให้ตึงเท่านั้นเอง วิธีการนี้ เป็นที่นิยมกันในวงการบันเทิง ในหมู่นักแสดง หรือผู้ที่อยู่ในตำแหน่งสูงอย่างเช่นผู้นำประเทศ หรือผู้ที่ต้องใช้หน้าตาในการหาเงิน ไม่มีใครอยากดูคนแก่ เนื้อหนังเหี่ยวย่น
สำหรับกรณี นายสุรชัย สมบัติเจริญ ทำนั้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เขาอยู่ในวงการบันเทิงก็ควรจะดูดี อาจจะทำให้เขาออกคอนเสิร์ตใหม่ได้ แม้แต่ประธานาธิบดีอิตาลี เจ้าของทีมฟุตบอลเอซีมิลาน ก็ทำสำหรับลูกค้าของผมส่วนใหญ่ที่มาทำ มักจะเป็นคู่รักที่อายุแตกต่างกันมาก
อาชีพหมอ เขาห้ามการันตี ก่อนจะเซ็นเข้ารับการผ่าตัด ก็จะให้คนไข้เซ็นรับทราบว่า หมอได้บอกแล้วว่า ไม่รับรองว่าผลการผ่าตัดจะเป็นอย่างที่คนไข้คาดหวัง และอาจจะต้องมีการแก้ไข
บางอย่างที่เป็นอันตราย อย่างเช่น ดึงหน้า ซึ่งจะมีโอกาสโดนเส้นประสาท ทำให้ปากเบี้ยวถาวรตลอดชีพ หมอก็จะต้องแจ้งคนไข้และให้เซ็นรับทราบ หมอที่ดี ไม่ต้องโฆษณาให้ผิดระเบียบ
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า การจะเข้าดู เข้าไปตรวจสอบสถานประกอบการ ต้องดูข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏทางสื่อต่างๆ ว่า ข้อมูลมีการโอ้อวดหรือไม่ เป็นเท็จหรือไม่ สื่อออกไปแล้วทำให้ประชาชนที่จะใช้บริการ โดยเฉพาะตกแต่งใบหน้า เกิดความเข้าใจหรือไม่ หลงเชื่อหรือไม่ เมื่อสรุปข้อมูลได้แล้วจึงจะเข้าไปดำเนินการตามขั้นตอนของการตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในโฆษณา รวมทั้งสถานพยาบาลนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโฆษณาดังกล่าวหรือไม่
เฟซออฟ เป็นการเปลี่ยนใบหน้า เป็นศัพท์ที่แพทยสภาไม่ได้บัญญัติไว้ ซึ่งในทางการแพทย์ยังไม่มีการกล่าวถึงคำนี้ เป็นเพียงการพูดขึ้นมาเท่านั้นในประเทศไทย ทางการแพทย์จะใช้คำว่า เฟซลิฟต์คือการดึง ลดรอยเหี่ยวย่น ทำให้ผิวหน้าตึง กระชับ
ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ
กรณีที่่มีการใช้ชื่อเฟซออฟ ปรากฏตามสื่อ ถือว่ามีความผิด ในส่วนของชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดความเป็นจริง ทำให้คนเข้าใจผิด เพราะประชาชนจะเข้าใจว่าเฟซออฟ เป็นกรรมวิธีที่เปลี่ยนหน้าหนึ่งเป็นอีกหน้าหนึ่ง ทั้งๆ ที่ไม่ใช่
หลักของการพิจารณาคำเหล่านี้ ก็จะมีการนำเข้าสู่รูปแบบของอนุกรรมการ ที่ประกอบไปด้วย แพทยสภา นักกฎหมาย อัยการ ตัวแทนฝั่งประชาชน เพื่อพิจารณาดูว่า มีข้อมูลอะไรบ้าง ข้อความที่โฆษณามีอะไรบ้าง อย่างเช่น เป็นแพทย์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย หรืออ่อนเยาว์ตลอดไป ตรงนี้จะพิจารณาว่าคำพูดในลักษณะนี้ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในเนื้อหาสาระ โอ้อวด เป็นเท็จหรือไม่
การกล่าวอ้างว่า สามารถลดอายุให้ดูอ่อนกว่าวัย จากอายุ 60 ปี ดูเหมือนอายุ 30 หรือ 35 ปี ตรงนี้ เป็นการกล่าวเกินจริง เพราะการลดอายุแบบนี้ต้องมีหลักฐานทางการแพทย์มารับรอง แต่ในทางการแพทย์ไม่มีการรับรอง ซึ่งถือว่าเป็นการโอ้อวด จริงๆ การโฆษณาแบบนี้ทางการแพทย์ไม่ให้ทำ เพราะเป็นการการันตีในเรื่องของอายุ ถือเป็นการโอ้อวดโฆษณาเกินความเป็นจริง