svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ไข้เลือดออกรอบ 2 จะรุนแรง 15-80 เท่า

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเวทีไขความจริงทางวิทยาศาสตร์ของไข้เลือดออก โดยอาจารย์จากภาควิชาจุลวิทยา และกุมารแพทย์ด้านภูมิคุ้มกันและโรคเลือด ร่วมให้ข้อมูลใหม่ของไวรัสเดงกี่

นักจุลวิทยา ผู้เชี่ยวชาญไวรัสเดงกี่ ศ.ดร.ศุขธิดา อุบล บอกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการค้นพบไข้เลือดออกเดงกี่ สายพันธุ์ที่ 5 ในป่า ประเทศมาเลเซีย แต่ยังไม่แพร่ระบาดมาสู่คน ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับว่า เชื้อจะพัฒนาตัวเองให้ถ่ายทอดเชื้อสู่คน และคนนำเชื้อจากป่าออกมา ซึ่งยังไม่มีรายงาน ดังนั้นจนถึงวันนี้ จึงมีไข้เลือดออกที่ระบาดในคนเพียง 4 สายพันธุ์ เท่านั้น ยังไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่

ส่วนในต่างประเทศ มีรายงานการค้นพบผู้ป่วย 4 ราย ที่ถ่ายทอดเชื้อไวรัสไข้เลือดออกจากการให้เลือด เพราะในขั้นตอนการให้เลือด ไม่ได้มีการตรวจหาเชื้อ และผู้บริจาคเลือดเอง ก็ไม่รู้ว่าติดเชื้อ ส่วนเหตุผลที่ทำให้คนที่เคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อน และได้รับเชื้อไข้เลือดออกต่างสายพันธุ์ ในครั้งที่ 2 จะมีอาการรุนแรงขึ้น 15-80 เท่า จากการติดเชื้อครั้งแรก
ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันและโรคเลือด ผศ.พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ บอกว่า อาการช๊อคของผู้ป่วยไข้เลือดออกชนิดรุนแรง มักจะเกิดขึ้นในวันที่ 4-5 หลังจากที่ไข้เริ่มลง ซึ่งเกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกาย ต่อสู้กับไข้เลือดออก แทนที่จะมีผลดีกลับเป็นผลเสีย

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญไม่แนะนำให้ผู้ป่วยไข้เลือดออกกินยาลดไข้สูง ที่รุนแรงมากกว่าพาราเซตามอล เช่น ยาแก้ปวดข้อ ในกลุ่มเอ็นเซด เพราะจะมีผลข้างเคียงทำให้เกิดแผลในกระเพาะ ยกเว้นช่วงที่มีอาการรุนแรง และเกร็ดเลือดต่ำ